มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาและวิจัย เน้นการใช้รากเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และพร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนเข้าศึกษา
ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ผู้สอนในแผนกวิชาเทคโนโลยีทางการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าสืบเนื่องจากการตื่นตัวในเรื่องการอนุญาตให้ปลูกกัญชาตามนโยบายรัฐบาล จึงมีแนวคิดที่จะนำกัญชามาสู่ระบบ
การเรียนการสอนในแผนกวิชาเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อศึกษาวิจัยการนำสารที่มีประโยชน์ของกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และรักษาอาการนอนไม่หลับ ที่เป็นสาเหตุของอีกหลายโรค ซึ่งวิทยาเขตปัตตานี ได้จัดสรรงบประมาณให้สร้างโรงเรือนขนาด กว้าง 20 เมตร และยาว 30 เมตร และเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนจึงได้เลือกสถานที่ ใกล้จุดที่วิทยาเขตปัตตานีสร้างตลาด MoreMart บริเวณประตู 4 ของวิทยาเขตปัตตานี
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าในระหว่างที่รอให้กฎหมายอนุญาตให้ปลูกกัญชามีผลบังคับใช้ จึงได้ปลูกมะเขือเทศพันธุ์เชอรี่ ก่อนเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากนั้นจึงได้ปลูกกัญชาสายพันธุ์หางกระรอก (พันธุ์ไทย) โดยระบบที่ปลูกเป็นระบบแอโรโพนิกส์ (Aeroponics) หรือระบบรากแขวนลอยในอากาศ การให้อาหารใช้วิธีสเปร์สารละลายธาตุอาหารไปยังบริเวณราก เพื่อให้พืชได้รับน้ำ อากาศและสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งเหตุผลที่ปลูกในระบบรากลอยเนื่องจากกลยุทธในการวิจัยและพัฒนา เราทราบว่าหลายมหาวิทยาลัย และหลายหน่วยงานที่ทำการวิจัย ได้ให้ความสำคัญของการผลิตดอกและใบจากต้นกัญชา แต่เราเห็นว่ารากกัญชายังมีการศึกษาวิจัยยังน้อยอยู่ เราจึงเน้นศึกษาวิจัยและผลิตรากให้ได้มากเพราะในรากมีสารสำคัญ
ที่เรียกว่าฟริเดลีน (Friedelin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องการเกิดพิษต่อเซลล์ตับ (ตับอักเสบ) ต้านการเกิดแผลพุพอง เช่นแผลในทางเดินอาหาร หรือแผลร้อนในที่ปาก ต้านการอักเสบ รวมถึงใช้แก้ปวดแก้ไข้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนทำการศึกษาและวิจัย และการปลูกกัญชาด้วยระบบการแอโรโพนิกส์ ทำให้สามารถผลิตรากได้มาก และการเก็บเกี่ยวรากก็สามารถทำได้ง่ายหลายครั้งในการปลูกแต่ละรอบ เพราะเมื่อตัดรากแล้ว รากใหม่ก็จะงอกมาทดแทน และสะดวกกว่าการปลูกในดินที่ต้องล้างสิ่งปนเปื้อนจากรากออกซึ่งทำได้ยากกว่า และผลิตรากได้น้อยกว่า
ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาและวิจัยดังกล่าวแล้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็จะเปิดสอนเรื่องการปลูกกัญชาในระบบ Non degree เพื่อให้นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาศึกษา และเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้กัญชาอย่างเป็นประโยชน์ เพราะหากไม่มีความรู้และนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะทำให้สังคมเสื่อม และโอกาสในการใช้กัญชาก็จะหมดไป.
***********************
ติดตามอ่านข่าวอื่นๆ ในสื่อประชาสัมพันธ์ของศูนย์สื่อสารองค์กรและกิจการนานาชาติได้ที่
ฐานข้อมูลหอจดหมายเหตุข่าวประชาสัมพันธ์ วิทยาเขตปัตตานี
http://memorandum.pn.psu.ac.th/index_dis.php
|