รายละเอียด :
|
วิทยาเขตปัตตานีเตรียมพื้นที่ 6 ไร่ สร้างแปลงเกษตรตัวอย่าง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งผลิตอาหารของคนเมืองปัตตานี
ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ตั้งพันธกิจหลักร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการลดความยากจนและการพัฒนาความเท่าเทียม ในประเทศไทย: กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยในระยะแรกคณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลคนจนเชิงลึกด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 36,000 บาทต่อปี โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนที่ 1 ประกอบด้วยอำเภอเมือง อำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ และอำเภอแม่ลาน โซนที่ 2 อำเภอยะรัง อำเภอมายอ อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอกระพ้อ และโซนที่ 3 ได้แก่ อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น หลังจากนั้นจึงมีการคัดเลือกพื้นที่ เพื่อออกแบบโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาความยากจนใน 3 พื้นที่ คือ 1) พื้นที่บ้านกาฮง ตำบลปะกาฮะรัง 2) พื้นที่บ้านกอแล ตำบลมายอ และ 3) พื้นที่บ้านกลาง ตำบลปะนาเระ
หลังจากได้ดำเนินโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาความยากจนเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มให้พื้นที่เป้าหมาย ทำให้ได้เรียนรู้ว่าจะใช้ทุนทั้ง 5 ด้าน คือ ทุนมนุษย์ ทุนทรัพยากร ทุนทางกายภาพ ทุนการเงิน และทุนทางสังคมมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร รวมทั้งการวิเคราะห์ศักยภาพรายครัวเรือนก็พบจุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละครอบครัว เช่น ผู้ที่เป็นชาวประมงก็จะขาดทักษะทางด้านการเกษตร และคนในพื้นที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บริโภคผัก เนื่องจากหลายพื้นที่มีสภาพเป็นดินทราย ไม่สามารถปลูกพืชผักได้ ทำให้มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคทางเดินอาหาร นอกจากนั้น ซื้อผักที่มาจากต่างพื้นที่จะมีราคาแพง อีกทั้งยังปนเปื้อนด้วยสารเคมีต่างๆที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้
ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ เล่าถึงประสบการณ์หลังจากตนเองและคณะได้ลงพื้นที่หมู่ 3 บ้านกือยา และ หมู่ 5 บ้านกาฮง ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนกันยายน 2563 ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป พื้นที่ดินรอบบ้านมีสภาพเป็นดินทราย ที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ จึงได้แนะนำให้นำเปลือกมะพร้าวซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้าน นำมาฝังลงในดินเพื่อช่วยให้ดินสามารถเก็บน้ำและธาตุอาหารพืชไว้ได้ เมื่อฝนตกหรือน้ำท่วมดินทรายที่มีขุยมะพร้าวก็จะเก็บกักน้ำและปุ๋ยไว้ นอกจากดินจะโปร่งแล้ว พื้นดินก็อุดมสมบูรณ์ขึ้นทำให้สามารถเพาะปลูกพืชผักสวนครัวได้ จากที่แรกเริ่ม
มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพียงครอบครัวเดียว หลังจากชาวบ้านในชุมชนเห็นตัวอย่างว่าสามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ผลดี นอกจากจะมีผักบริโภคในครอบครัวแล้วก็ยังสามารถนำมาขายในชุมชนได้ ก็ได้มีอีกกว่า 10 ครอบครัวที่ขอเข้าร่วมโครงการ และเกิดความร่วมแรงร่วมใจกันในการลงแขกทำงาน ปัจจุบันผู้ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปดังกล่าวได้หันมาทำการเกษตร และมีเวลาที่จะอยู่กับครอบครัวมากขึ้น จากเดิมที่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนสว่าง และกลับบ้านมืดค่ำ ก็มีเวลาทำงานอยู่ที่บ้านทำให้ครอบครัวมีความใกล้ชิดผูกพันกัน ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น มีพืชผักสวนครัวไว้รับประทาน และทำให้มีรายได้มากขึ้น
หลังจากที่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น คณะทำงานจึงได้ขอใช้พื้นที่ของวิทยาเขตปัตตานี 6 ไร่ บริเวณใกล้หอพักในกำกับ (หอพักสหกรณ์) มาทำโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการปลูกพืชผักสมุนไพรที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และบ่อปลา ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ดร.เอกนรินทร์ เรืองรักษ์ เป็นตัวแทนของวิทยาเขต เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองพื้นที่เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดปัตตานี และได้นำเสนอการปฏิบัติงานของ ม.อ.ปัตตานีในการใช้พื้นที่ 6 ไร่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นแปลงสาธิตเป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนยากจนและตกงาน รวมถึงผลิตผักปลอดภัยส่งมอบให้แก่ชาวเมืองปัตตานีต่อไป.
******************************
10 ปี ฐานข้อมูลหอจดหมายเหตุข่าวประชาสัมพันธ์
ท่านสามารถสืบค้นข่าวที่ผลิตโดยศูนย์สื่อสารองค์กรและกิจการนานาชาติได้ที่
http://memorandum.pn.psu.ac.th/index_dis.php
|