รายละเอียด :
|
แพทย์ พยาบาล และจิตอาสาจากภาครัฐและเอกชนในจังหวัดปัตตานีให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน ร่วม 2,500 คน ในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของจังหวัดปัตตานีนายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนอาคารเรียนรวม 58 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในวันนี้ (วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน2564) คณะทำงานศูนย์ฉีดวัคซีนอาคารเรียนรวม 58 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งประกอบด้วย
แพทย์ พยาบาล จิตอาสา จากทุกภาคส่วนร่วม 300 คน ได้ทุ่มเทศักยภาพในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชน ในเขตเศรษฐกิจอำเภอเมืองปัตตานี อีกประมาณ 2,500 คน เพื่อให้ครบตามเป้าหมาย 5,000 คน ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดย่านเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเขตเมืองปัตตานี โดยในวันนี้เป็นการให้บริการวัคซีนซิโนแวค
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้มีประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนเป็นจำนวนมาก แต่มีวัคซีนให้บริการเพียง 2,355 คน ซึ่งจำนวนผู้ที่มารับวัคซีนก็อาจมีการผันแปรได้ อาทิ มีการขอเลื่อนนัดเนื่องจากเหตุผลความจำเป็นต่างๆ รวมถึงเมื่อมาถึงหน้างานแล้วมีความดันโลหิตสูงไม่สามารถรับวัคซีนได้ อาจต้องเลื่อนการรับวัคซีนในวันถัดไป ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 (เวลา15.00 น). มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นถึง 102 คน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่มาก ทั้งนี้คณะทำงานได้ดำเนินการภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด มีความพร้อมและมีการวางแผนการปฏิบัติงานไว้อย่างเป็นระบบ อาทิ ในวันนี้ได้วางแผนการให้วัคซีนเข็มแรกในเวลา 9.00 น.โดยนัดหมายให้ประชาชนมาในเวลา 8.45 น.เพื่อการคัดกรอง การตรวจเอกสาร และวัดความดันโลหิตเป็นต้น โดยจะให้วัคซีน 150 คน ในทุก15 นาที ซึ่งจากสถิติเมื่อวันที่ 4 , 7-8 และ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รวมเวลาฉีดวัคซีนเพียง 8 ชั่วโมง สามารถให้วัคซีนได้ทั้งหมด 5,086 คน จะเห็นได้ว่าศูนย์บริการวัคซีน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีศักยภาพในการให้บริการวัคซีนได้วันละ 2,500 คน โดยให้บริการเฉพาะองค์กรที่ได้รับการจัดสรร/สรรหาวัคซีนมาแล้ว.
|