รายละเอียด :
|
ปลัดอาวุโสอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรือนผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ที่ อ. มายอ จ.ปัตตานี ในวันนี้ (วันพุธที่ 7 เมษายน 2564) ตามโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อลดปัญหาความยากจนของจังหวัดปัตตานี
เมื่อบ่ายวันนี้ (วันพุธที่ 7 เมษายน 2564) ที่มัสยิดอีมามุดดีน หมู่ที่ 1 บ้านกอแล ต.ลางา อ.มายอ จ.ปัตตานี ผศ. ดร. อารีย์ ธรรมโคร่ง ในนามตัวแทนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในโครงการวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการลดความยากจนและการพัฒนาความเท่าเทียมในประเทศไทย: กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี ได้รายงานการดำเนินงานโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพทำปุ๋ยมูลไส้เดือน บ้านกอแล ต.ลางา
อ.มายอ จังหวัดปัตตานี ต่อนายพินิต เรืองยังมี ปลัดอาวุโส อ. มายอ จ.ปัตตานี ว่าโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพทำปุ๋ยมูลไส้เดือน มีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และเพื่อร่วมพัฒนาฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ในการวิจัยได้จัดทำโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาความยากจน ในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานี และนำไปสู่การสังเคราะห์ผลการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน
โดยโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดปัตตานีมีพื้นที่การดำเนินงาน 3 โซนคือ โซนที่ 1 บ้านกือยา ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมือง ,โซนที่ 2 บ้านกอแล หมู่ที่ 1 ตำบลลางา อำเภอมายอ และ โซนที่ 3 บ้านกลาง หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกลาง อำเภอปะนาเระ โดยมีรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี พัฒนาการอำเภอมายอ เกษตรอำเภอมายอ ผู้ใหญ่บ้านกอแล คณะทำงาน ทีมนักวิจัย ร่วมในพิธีเปิดโรงงานต้นแบบผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนครั้งนี้
รายงานข่าวแจ้งว่าโครงการส่งเสริมทักษะอาชีพทำปุ๋ยมูลไส้เดือน บ้านกอแล ต.ลางา อ.มายอ จังหวัดปัตตานี เกิดขึ้นจากผลการสำรวจและการสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในเวทีชุมชน โดยเรียงจากปัญหาที่มีความสำคัญมากที่สุด 3 ลำดับ คือ 1. การพัฒนาทักษะการทำปุ๋ยชีวภาพ 2. การพัฒนาทักษะการเพาะปลูก และ 3. การพัฒนาทักษะงานช่างฝีมือต่าง ๆ วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินงาน
ของโครงการ เพื่อส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ และนำมาสู่การสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งลดการเคลื่อนย้ายนอกพื้นที่เพื่อหางานทำของประชากรวัยแรงงานของคนในพื้นที่ โดยส่งเสริมให้ครัวเรือนมีการทำปุ๋ยชีวภาพมูลไส้เดือนในชุมชน และลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรอำเภอมายอ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอมายอ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนเป็นอย่างดี
ตลอดระยะเวลาที่ 3-4 เดือนที่ผ่าน ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากการไปดูงานจากฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน ขณะเดียวกัน ได้ให้ความร่วมมือสร้างโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือน หรือ รู้จักกันในชื่อ โรงเรือนจาจิง ให้สามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ บัดนี้ โรงเรือนผลิตปุ๋ยไส้เดือนได้ดำเนินการมาสมบูรณ์พร้อมจะเป็นแหล่งผลิตมูลไส้เดือนเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของโครงการไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้พร้อมใช้ และจำหน่าย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดโครงการไปสู่การเผยแพร่ความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นต้นแบบของการฝึกทักษะอาชีพการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนให้คนในชุมชนตนเองหรือชุมชนอื่นที่สนใจต่อไป.
----------------
|