ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมด้วยรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี เปิดโครงการ "EU COVID-19 Three Southern Border Provinces"
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (6 สิงหาคม 2563) ณ บ้าน ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ สหภาพยุโรป เพื่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากพิธีเปิดงานแล้วเป็นการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อวิถีชีวิตใหม่ กับการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในจังหวัดสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยฯ ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี คุณธิดารัตน์ ธนานันท์ หัวหน้าผู้ประสานงานอาวุโสองค์การช่วยเหลือเด็กประเทศไทย สำนักงานปัตตานี คุณมูฮัมหมัดรุสดี นาคอ นายกสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังจากนั้นเป็นการเสวนา ในหัวข้ออายุน้อยร้อย(เรียง)ร้อยฝัน ฉันจะสู้กับเธอโควิด-19!!! และการเสวนา หัวข้อ ภูเขาสูงล้ำ ค้ำฟ้าชื่อโควิด-19 พี่เคยข้ามผ่านมันมาแล้ว
ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว มีทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันรับมือกับผลลัพธ์เชิงลบที่จะตามมา ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน ยังคงที่จะสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ สหภาพยุโรปได้สนับสนุนโครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 90 ล้านบาท จำนวนสองโครงการ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมของไทย ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในประเทศ ทั้งสองโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานเป็นเวลา 2 ปี และปฎิบัติงานโดยภาคีขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยของอียู มีส่วนประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาการดำรงชีพของชุมชนที่ได้ผลกระทบให้ดีขึ้น และการสร้างความสามารถในการยืดหยุ่นของชุมชนในการรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต.
|