: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 0 ฉบับที่ 27 ประจำเดือน 09 2562
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี เปิดเวทีสัมมนาครูผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาทั่วประเทศ
รายละเอียด :
        คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี เชิญเอกอัครราชทูต
สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เปิดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน
2562  ณ โรงแรมแมนดาริน แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษา
ตอนปลายในประเทศไทย  ผลการสัมมนาที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลเกาหลี ส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีเข้าสู่การศึกษาระดับอาชีวศึกษา
ที่เปิดสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย
        ศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
กล่าวว่า  การศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในระดับอุดมศึกษา ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2529 ได้ขยายการศึกษาภาษาเกาหลีสู่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้รับ
การสนับสนุนจากมูลนิธิเกาหลี ในการสาธิตการจัดการเรียนการสอนภาษาเกาหลีให้แก่นักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของ
ภาคใต้ และจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกาหลีศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อปี 2552 จนทำให้ภาษา
เกาหลีมีความสำคัญในฐานะภาษาต่างประเทศที่ได้รับการบรรจุให้เป็นรายวิชาที่ใช้ในการสอบคัดเลือกของสถาบันทดสอบ
ทางการศึกษาแห่งชาติ ทำให้ผู้สอนมีความต้องการข้อมูลความรู้ด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาเพื่อให้การเรียนการสอนมี
ประสิทธิภาพสูงสุด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับมูลนิธิเกาหลี  
กำหนดจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา  ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายน 2562 ณ โรงแรมแมนดาริน
แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์ พ้อยท์ กรุงเทพฯ  ให้แก่นักวิชาการ ผู้สอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมเปิดประเด็น
นำเกาหลีศึกษาเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษา เพื่อระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยกับชาวเกาหลีในด้านประวัติศาสตร์
สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนร่วมกันหาแนวในการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและระดับ
อาชีวศึกษา  โดยมี ฯพณฯ ลี อุค–ฮอน  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย  เป็นประธานในพิธีเปิด  
         สาระสำคัญของการสัมมนาประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้สอนภาษาเกาหลี และกลุ่มคณาจารย์ผู้สอนสังคมศึกษา
การเสวนาทางวิชาการเรื่อง การเปลี่ยนแปลงและอนาคตของสังคมการเมืองเกาหลี 2019, เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกาหลีสไตล์กับ
เศรษฐกิจการท่องเที่ยววิถีไทย , การบรรยายทางวิชาการ ได้แก่ บทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนกับการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้,
บทวิเคราะห์และประเด็นความสนใจเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ในสื่อไทย, แนวโน้มนโยบายและลักษณะพิเศษของการจัด
การเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย, นักศึกษาต่างชาติทางรอดของมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้,
อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเชื่อและค่านิยมของชาวเกาหลี, การเรียนการสอนภาษาเกาหลี : สภาพการจัด
การเรียนการสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษากับปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย, การเรียนการสอนภาษาเกาหลี
: วรรณคดีเกาหลี, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเกาหลีใต้ในปัจจุบัน, เกาหลีใต้กับการพัฒนา
ประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลี เป็นต้น
         ศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์  ยิ้นเสน  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือ
จากกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา รัฐบาลเกาหลี ส่งผลให้โรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย จัดการเรียนการสอน
ภาษาเกาหลี  ปัจจุบันมีโรงเรียนมัธยมที่เปิดสอนวิชาภาษาเกาหลี จำนวน 80 แห่งทั่วประเทศ และมีจำนวนนักเรียน ประมาณ 25,000 คน
และปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศได้มีการสร้างความร่วมมืออย่างจริงจัง  ในการดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน
ภาษาเกาหลีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาปรับปรุงตำราเรียนและการอบรมครูผู้สอน  
         ผลจากการจัดสัมมนาเกาหลีศึกษา เมื่อปี 2561 พบว่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ได้นำเสนอมาตรการเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา คือ การจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม
ด้วยการจัดพื้นที่ภาษาเกาหลี  การสนับสนุนของผู้ปกครองในการศึกษาภาษาเกาหลี  เพิ่มสัดส่วนครูผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย
ให้มากขึ้น  ขยายช่องทางระบบทุนการศึกษา  ส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมสอบวัดระดับภาษาเกาหลี พัฒนาคู่มือการเรียนการสอน  
สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการสอบวัดระดับภาษาเกาหลีเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขยายการฝึกอบรมภาษาเกาหลีระยะสั้นในสาธารณรัฐ
เกาหลี สำหรับผู้สอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาในระดับมัธยมศึกษาได้มีการนำเสนอแนวคิดเกาหลีศึกษาในประเทศไทย
ยังต้องการสิ่งสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนจากหน่วยงานในเกาหลี และผู้สอนต้องมีความตื่นตัวพร้อมที่จะพัฒนารูปแบบการจัด
การเรียนการสอนภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา อีกทั้งมีบทบาทในการกำหนดขอบเขตของเนื้อการในการจัดการเรียนการสอนและ
การออกข้อสอบเพื่อสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  นับเป็นเวทีที่เห็นความสำคัญการจัดระบบการศึกษาเกาหลีศึกษาเพื่อรองรับ
นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล  ทำให้รัฐบาลเกาหลีจัดส่งครูผู้สอนภาษาเกาหลีให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เปิดสอนวิชา
ภาษาเกาหลีจำนวน 5 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น  
       ในการนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลี
ในประเทศไทย ได้แก่ จัดทำนโยบายการศึกษาภาษาเกาหลี  จัดเตรียมหลักสูตรการศึกษา  สนับสนุนและจัดทำแนวทางฝึกอบรม
ครูผู้สอน  แผนกิจกรรมการศึกษา  จัดทำตำราเรียนภาษาเกาหลี  และจัดทำรูปแบบและวิธีการประเมินผลภาษาเกาหลี  สำหรับ
ผลการสัมมนาในครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ร่วมสัมมนามีความเข้าใจด้านเกาหลีศึกษาที่เป็นปัจจุบันรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียน
การสอนต่อไป

                      *********************************
โดย : * [ วันที่ ]