: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 0 ฉบับที่ 18 ประจำเดือน 07 2562
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเล ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สู่เมืองปูทะเลโลก
รายละเอียด :
      คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  นักวิชาการจากกรมประมง  
และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สู่เมืองปูทะเลโลก
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณร่วม  14 ล้านบาท
       รองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่า
ปูทะเลเป็นปูที่มีชื่อเรียกทั่วไปว่า ปูดำ ปูเขียว ปูขาว หรือปูทองหลาง เป็นสัตว์น้ำที่มีศักยภาพสูงมากที่จะพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
ชนิดใหม่สำหรับรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต เนื่องจากมีราคาสูง เลี้ยงง่าย โตเร็ว รูปแบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการปริมาณสูง นิยมบริโภคทั้งในรูปของปูเนื้อ ปูไข่ และปูนิ่ม  โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศจีน  
สิงคโปร์  ฮ่องกง  และไต้หวัน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความพยายามทำการประมงทะเลในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจับ
ปูทะเลขนาดเล็กมาขุนเป็นปูเนื้อ ปูไข่ หรือเลี้ยงเป็นปูนิ่ม เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับป้อนสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
และจากการที่ประเทศไทย มีองค์ประกอบที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำเอาปูทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ในสร้างระบบเศรษฐกิจ
ขึ้นใหม่
      ดังนั้น  การศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง  โดยบูรณาการความเชี่ยวชาญระหว่างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย กรมประมง  และกรมทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่ง  เพื่อต่อยอดจากความรู้เดิมของนักวิชาการของประเทศไทยในรูปแบบของการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนและ
ผู้ประกอบการ ที่มีพื้นที่ทำงานและรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน มีการนำเทคโนโลยีจากประเทศเวียดนาม  ที่ประสบความสำเร็จสูงมา
ปรับใช้กับความรู้ทางวิชาการของประเทศไทย การสร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องปูทะเลสำหรับรองรับการพัฒนาในอนาคต เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน อ่าวปัตตานี นับว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปูทะเลและการสร้าง
อุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปูทะเลในระยะแรก อีกทั้งการพัฒนา
ทางเศรษฐกิจ  โดยใช้ปูทะเลยังจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง ผ่านการพัฒนาทางเศรษฐกิจชุมชน ก่อนที่จะ
ขยายไปยังพื้นที่ชายฝั่งอื่น  ๆ  ของประเทศต่อไป  อันจะสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ประเทศในอนาคต  โดยคาดว่า
ปูทะเลจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า  5,000 ล้านบาทต่อปี  ภายในไม่เกิน 5 ปี  ซึ่งการศึกษาวิจัยดังกล่าว  จะเป็นการพัฒนานวัตกรรม
การเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศสู่เมืองปูทะเลโลก
      จากการที่ประเทศไทย มีองค์ประกอบที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำเอาปูทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่   ในการสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นใหม่
ทดแทนรายได้ที่สูญเสียจากการลดลงของสัตว์น้ำที่จับได้จากธรรมชาติและรายได้จากการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่
เหมาะสม เกษตรกรมีประสบการณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ มาก่อนที่สามารถปรับใช้ได้และพื้นที่มีศักยภาพสำหรับใช้ในการเพาะเลี้ยง
เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่นากุ้งร้างที่ประเทศไทย มีอยู่ถึงประมาณหนึ่งแสนไร่ โดยเป็นนากุ้งร้างในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กว่า
25,000 ไร่ ที่สามารถพัฒนามาเป็นบ่อเลี้ยงปู และจากการที่ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำที่ต้องใช้วิธีการเพาะเลี้ยงในระบบพึ่งพาธรรมชาติ
ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลนมากกว่าการทำลายป่า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างยิ่ง
ดังนั้น จึงได้รับการสนับสนุนในหลักการจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการสร้างโรงเพาะฟักและวิจัยปูทะเล
ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท และได้รับ
การพิจารณางบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย อีกร่วม 4 ล้านบาท เพื่อวิจัยพัฒนาเทคนิคและวิธีการพัฒนา
แม่พันธุ์ปูทะเล  การเพาะลูกปู  และการอนุบาลลูกปู  สร้างต้นแบบสำหรับการอนุบาลลูกปูระยะต่าง ๆ ที่เหมาะสมบริเวณอ่าวปัตตานี
และพื้นที่ใกล้เคียง สร้างต้นแบบสำหรับฟาร์มเลี้ยงปูเนื้อและปูไข่โดยใช้นากุ้งร้าง โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชาวประมง และ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังบุคคลเป้าหมายที่สนใจ

                                                       
                                         *******************************
โดย : * [ วันที่ ]