รายละเอียด :
|
นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับทุนอุดหนุนนวัตกรรมเรื่อง
การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นเงินกว่า 7.5 แสนบาท เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืน
แก่เกษตรกร
นายวศินะ รุ่งเรือง นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประมง แผนกวิชาเทคโนโลยีการประมง ภาควิชาเทคโนโลยีและ
การอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า จากการที่ครอบครัวของ
ตนเองในจังหวัดสตูล มีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปลากะพง ปูดำ และปลานิล ทำให้ตนเองสนใจที่จะมาศึกษา
ในสาขาเทคโนโลยีการประมงของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่ในระดับ
ปริญญาตรี จนปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาธุรกิจของครอบครัวและสังคม และล่าสุดได้รับ
คำแนะนำจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ระพีพร เรืองช่วย ที่ปรึกษาโครงการ ให้เสนอโครงการนวัตกรรมเรื่อง LATOS : การเลี้ยงสาหร่าย
ขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด เพื่อขอรับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีหนังสือ
ตอบรับ ให้ได้รับทุนส่งเสริมการทำธุรกิจแบบให้เปล่า เป็นเงิน 751,405 บาท
นักศึกษาผู้ได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรม เรื่อง LATOS : การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด เปิดเผยว่าเนื่องจากจังหวัดสตูล
เป็นแหล่งผลิตสาหร่ายขนนกจากคลองน้ำกร่อยธรรมชาติ ซึ่งตลาดมีความต้องการสาหร่ายขนนกเพื่อใช้เป็นอาหารสุขภาพ และยังนำไป
แปรรูปเป็นเครื่องดื่มและนำไปสกัดสาร เพื่อใช้ในการทำเครื่องสำอางของกลุ่มชุมชนและเอกชนอื่น ๆ ทำให้สาหร่ายชนิดนี้เป็นที่ต้องการ
ของตลาดสูง จากการที่สาหร่ายดังกล่าวจะเติบโตได้ดีในธรรมชาติ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปริมาณ
สาหร่ายก็จะลดลงและหมดไป หลังจากเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อความเค็มของน้ำทะเลลดลง แต่ความต้องการของตลาดยังมีต่อเนื่องตลอดปี ดังนั้น
จึงมีแนวคิดที่จะนำสาหร่ายขนนกมาเพาะเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด เพื่อให้มีผลผลิตได้ทั้งปี รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพ
สาหร่ายได้อย่างสม่ำเสมอคงที่
จากการศึกษาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกของตนเองและครอบครัวพบว่า สาหร่ายชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในน้ำที่สะอาด ไหลเวียน และ
แสงแดดส่องถึง ซึ่งจะต้องสามารถควบคุมปริมาณแสงแดด และความเค็มของน้ำให้เหมาะสมดี รวมถึงการให้สารอาหารอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงในบ่อแบบรางน้ำไหล (raceway pond) โดยใช้บ่อซีเมนต์ ขนาด 1,000 ตารางเมตร ระดับความลึก
30 เซนติเมตร โดยใช้ปริมาณต้นพันธุ์ 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่บ่อเลี้ยง 10 ตารางเมตร เมื่อเพาะเลี้ยงได้ 3 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยว
ผลผลิตได้ โดยจะหมุนเวียนเก็บประมาณสัปดาห์ละ 25 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นจึงจะทำความสะอาดบ่อ
ซึ่งการเพาะเลี้ยงให้ได้คุณภาพนั้น จะต้องได้รับการตรวจและรับรองคุณภาพจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
(มกอช.) ดังนั้นฟาร์มของตนเองจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำที่นำมาเพาะเลี้ยง รวมถึงน้ำที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยการบำบัด
และปรับปรุงคุณภาพน้ำผ่านแปลงป่าชายเลนที่ปลูกไว้
นายวศินะ รุ่งเรือง นักศึกษาปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่า สำหรับทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นั้น นำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบบ่อเพาะเลี้ยงสาหร่าย
ขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด ให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายแบบอินทรีย์ที่ได้ผลผลิตสม่ำเสมอและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเพิ่ม
ผลผลิตสาหร่ายขนนกที่สะอาดสู่ตลาด และช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตสาหร่ายขาดแคลน ตลอดจนเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
แบบยั่งยืนของจังหวัดสตูล ต่อไป
*******************************
|