นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์ผลิตหุ่นช่วยชีวิต หรือ CPR ผู้หญิงและ
ตรวจมะเร็งเต้านมตัวแรกของโลก ในชื่อ ฟาตีลาและอารียา นวัตกรรมจากยางพารา เพื่อเป็นอุปกรณ์ฝึกปฏิบัติต้นแบบช่วยชีวิตและ
เรียนรู้การช่วยชีวิตผู้หญิง
ดร.รอฮานิ เจะอาแซ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เนื้อยางพารามี
ความเหนียวและยืดหยุ่นใกล้เคียงกับผิวหนังและกล้ามเนื้อมนุษย์ จึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่นำมาใช้ในการพัฒนาหุ่นจำลองมนุษย์
ช่วยชีวิต เพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้นำเข้าหุ่น
จำลองต่าง ๆ เพื่อใช้จัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์สุขภาพจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ดังนั้นการพัฒนาหุ่นจำลองมนุษย์
ช่วยชีวิตโดยใช้ยางพารา จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทดแทนอุปกรณ์ฝึกสอนทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบกับ
มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย แต่สามารถลดการสูญเสียได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น แต่การตรวจ
ด้วยตนเอง ต้องใช้ทักษะความรู้ในระดับหนึ่งและต้องใช้โมเดลจำลองฝึกตรวจนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง นักวิชาการมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฝึกปฏิบัติต้นแบบเพื่อช่วยชีวิตโดยใช้ยางพารา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมบูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์ คิดค้นหุ่น CPR หรือหุ่นช่วยชีวิตผู้หญิงและ
ตรวจมะเร็งเต้านม2 ตัวแรกของโลก โดยมีชื่อเรียกว่า ฟาตีลาและอารียา ซึ่งใช้วัตถุดิบจากยางพารา เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน
ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และเสริมองค์ความรู้สำหรับการช่วยชีวิตสตรีทั่วไปและสตรีที่นับถือศาสนาอิสลาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฝึกปฏิบัติต้นแบบเพื่อช่วยชีวิตโดยใช้ยางพารา มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการออกแบบผลิตหุ่น CPR หรือหุ่นช่วยชีวิตผู้หญิงและตรวจมะเร็งเต้านม
จากยางพาราแล้ว ยังมีการผลิตเนื้อเต้านมเทียมโดยมีส่วนผสมของเจลที่มีคุณภาพสูง ทำให้ได้เต้านมเทียมที่มีความคล้ายคลึง
ธรรมชาติมากที่สุด โดยมีความร่วมมือกับนักวิชาการคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการศึกษาและออกแบบสรีระร่างกาย
ผู้หญิง นักวิชาการคณะศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อออกแบบปั้นหุ่นต้นแบบ และนักวิชาการด้านเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี เพื่อคัดเลือกวัสดุในการพัฒนาส่วนผสมเพื่อก่อให้เกิดหุ่น CPR หรือหุ่นช่วยชีวิตผู้หญิงและตรวจมะเร็งเต้านมเสมือนจริง
มากที่สุด โดยในระยะเริ่มต้นได้คิดค้นผลิตหุ่นดังกล่าว 2 ตัวแรกของโลกคือหุ่นชื่อ ฟาตีลา มอบให้แก่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อให้นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ใช้เป็นอุปกรณ์ฝึกปฏิบัติต้นแบบช่วยชีวิต
และเรียนรู้การช่วยชีวิตผู้หญิงทั่วไปและผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามให้ถูกต้องตามหลักศาสนา และชื่อ อารียา มอบให้แก่โรงพยาบาลปัตตานี
เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย และขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำลังดำเนินการ
สร้างหุ่นต้นแบบ CPR ช่วยชีวิตเด็กในแต่ละช่วงวัยจากยางพารา เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และการพยาบาลของ 3 จังหวัด
ชายแดนภาคใต้และภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศโดยใช้หลักการบูรณาการ ในหลักสูตรยางและพอลิเมอร์ ประติมากรรม และจิตสาธารณะ
ในภาวะวิกฤติ
*****************************
|