: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 7/ 2562
หัวข้อข่าว : นักศึกษาใหม่ ม.อ.ปัตตานี เดินเทิดพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และศึกษาเส้นทางพหุวัฒนธรรมปัตตานี
รายละเอียด :
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำนักศึกษาใหม่ และคณาจารย์จาก 8 คณะ ประมาณ 2,000 คน ร่วมกิจกรรมศรีตรังสะพรั่งบานบนเส้นทางพหุวัฒนธรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อให้นักศึกษาใหม่เรียนรู้อัตลักษณ์การอยู่ร่วมกัน
ในสังคมพหุวัฒนธรรม และฝากตัวเป็นลูกหลานชาวปัตตานี ในโอกาสเดินทางมาศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี ในวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562  
         
เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2562 ที่หน้าสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี นายสมพงษ์ เจริญสุข นายกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร  คณาจารย์ และนักศึกษาใหม่ประมาณ 2,000 คน ได้ร่วมในพิธีปล่อยตัวขบวนนักศึกษาใหม่ ในกิจกรรมศรีตรังสะพรั่งบานบนเส้นทางพหุวัฒนธรรม เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อให้นักศึกษาใหม่เรียนรู้อัตลักษณ์การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และฝากตัวเป็นลูกหลานชาวปัตตานี ในโอกาสเดินทางมาศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี โดยรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่ากิจกรรมศรีตรังสะพรั่งบานบนเส้นทางพหุวัฒนธรรม ในปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีนี้สอง โดยมีสโลแกนว่า RICH (ริช)  อันหมายถึง ปัตตานี เมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ร่ำรวยด้วยทรัพยากรและมรดกทางภูมิปัญญา ใส่ใจอัตลักษณ์ท้องถิ่น บูรณาการสหวิชาการ เพื่อความเป็นเมืองแห่งวิชาการ  ซึ่งในวันนี้นักศึกษาจะได้รับการต้อนรับจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จากเจ้าบ้านปัตตานี ได้รับการต้อนรับจากประชาชน ด้วยความอบอุ่นใจในไมตรีจิตของชาวปัตตานี จะได้เดินทางผ่านแม่น้ำปัตตานีซึ่งถือกำเนิดจากเทือกเขาสันกะลาคีรี แม่น้ำที่เป็นสายเลือดแห่งวิถีชีวิตของปัตตานี แม่น้ำสายนี้ไหลลงทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดปัตตานี และจะได้พบกับความสมบูรณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมในใจกลางเมืองปัตตานี ขอให้นักศึกษาได้ซึมซับความร่ำรวยของมรดกทางวัฒนธรรม ขอให้นักศึกษาได้เรียนรู้  ได้ตั้งมั่นที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อพื้นที่ เพื่อประเทศของเราต่อไป

ต่อมาคณะผู้บริหาร และคณาจารย์ได้เดินเท้านำนักศึกษาใหม่เกือบ 2,000 คน ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไปตามเส้นทางถนนเจริญประดิษฐ์ ซึ่งเป็นถนนหน้ามหาวิทยาลัย ผ่านหอนาฬิกา ไปยังลานศิลปวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยมีขบวนนักศึกษาอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงไตรรงค์ ธงตราพระปรมาภิไธย ธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่  โดยนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวต้อนรับความว่า
ขอให้นักศึกษาใหม่ ได้ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่มั่งคั่งไปด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรม ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกที่หลากหลายทางภูมิปัญญา จังหวัดปัตตานีแห่งนี้สามารถให้ความรู้ ความเข้าใจในด้านการศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรม และสามารถสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี และอวยพรให้นักศึกษามีความสุข และประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน

หลังจากนั้นเป็นพิธีเปิดและปล่อยตัวขบวนนักศึกษาเดินศึกษาเส้นทางวงแหวนวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี โดยผ่านจุดที่เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี ได้แก่ จุดที่ 1 วัดตานีนรสโมสรพระอารามหลวง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยที่พระธรรมโมลี (เกตุ ติสสโร) รองเจ้าคณะภาค 9 และเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บริจาคศิลปะโบราณวัตถุ และมอบเงินทุนจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำหรับสร้างพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี จุดที่ 2 บ้านเลขที่ 1 ถนนอาเนาะรู ซึ่งเป็นบ้านของคุณซุ่ยสิ้ม ปริชญากร ผู้บริจาคที่ดินให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
จุดที่ 3 ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ประดิษฐานรูปแกะสลักเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว  จุดที่ 4 มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มัสยิดที่สวยที่สุดในประเทศไทย เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ จุดที่ 5 มัสยิดรายอฟาตอนี หรือ มัสยิดรายาจะบังติกอ สร้างขึ้นในสมัยสุลต่านมูฮำมัด เมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว รูปทรงสถาปัตยกรรมมลายูยุคเก่า โครงสร้างทำด้วยไม้ตะเคียนทองทั้งหลัง จุดที่ 6 วังจะบังติกอ สร้างโดยสถาปนิกชาวจีนในสมัยตนกูมูฮัมหมัดหรือตนกูบือซา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี และจุดที่ 7 ริมแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดปัตตานี มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีชุมชนริมแม่น้ำ สัมผัสชีวิตดั้งเดิมอีกแห่งหนึ่งของเมืองปัตตานี รวมระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาวงแหวนวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี จะมีการแสดงตะลีกีปัส ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงระบำพื้นเมืองที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของภาคใต้ของประเทศไทย และมาเลเซีย การแสดงปันจักสีลัต ศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมลายู ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ และขบวนแห่สิงโต เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความเป็นพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้นักศึกษาประมาณ 2,000 คนได้รับแจกคูปอง
จากมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปซื้ออาหารท้องถิ่นที่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีได้ร่วมกันจัดทำเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลอง และเรียนรู้อาหารที่ได้รับความนิยมของคนยุคสมัยหนึ่งในอดีตของชาวปัตตานี และได้เลือกซื้อสินค้าจากชุมชนรอบเมืองปัตตานีอีกด้วย.
โดย : * [ วันที่ ]