: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 6/ 2562
หัวข้อข่าว : นักศึกษาม.อ.ปัตตานีได้รับทุนอุดหนุนนวัตกรรมการเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกว่า 7 แสนบาท
รายละเอียด :
นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้รับทุนอุดหนุนนวัตกรรมเรื่อง การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นเงินกว่า7.5 แสนบาท เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร

นายวศินะ รุ่งเรือง นศ. ปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าเนื่องจากครอบครัวของตนเองที่จังหวัดสตูลมีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ปลากะพง ปูดำ และปลานิล ทำให้ตนเองสนใจที่จะมาศึกษาในสาขาเทคโนโลยีการประมง ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี จนปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาธุรกิจของครอบครัวและสังคม และล่าสุดได้รับคำแนะนำจากรองศาสตราจารย์ ดร. ระพีพร เรืองช่วย ที่ปรึกษาโครงการ ให้เสนอโครงการนวัตกรรมเรื่อง “LATOS: การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด”เพื่อขอรับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้มีหนังสือตอบให้ทุนส่งเสริมการทำธุรกิจแบบให้เปล่า เป็นเงิน 751,405 บาท

นักศึกษาผู้ได้รับทุนสนับสนุนนวัตกรรมเรื่อง “LATOS: การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด”เปิดเผยว่าเนื่องจากจังหวัดสตูลเป็นแหล่งผลิตสาหร่ายขนนกในธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการของตลาดในปริมาณมากกว่าจำนวนที่ผลิตได้ซึ่งตลาดต้องการสาหร่ายขนนกเพื่อเป็นอาหาร และประโยชน์ของสาหร่ายชนิดนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และนำไปสกัดเป็นเครื่องสำอางได้อีกด้วย จากการที่สาหร่ายดังกล่าวจะเติบโตได้ดีในธรรมชาติในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี หลังจากเข้าสู่ฤดูฝนแล้วเมื่อความเค็มของน้ำทะเลลดลงปริมาณสาหร่ายก็จะลดลงด้วย ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะนำสาหร่ายขนนกมาเพาะเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดเพื่อให้มีผลผลิตได้ทั้งปี

ซึ่งจากการศึกษาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกของตนเองและครอบครัวพบว่าสาหร่ายชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในน้ำที่สะอาด ไหลเวียน และแสงแดดส่องถึง ซึ่งจะต้องสามารถควบคุมปริมาณแสงแดด และความเค็มของน้ำได้ดี รวมถึงเป็นพืชที่ต้องการสารอาหารหลายชนิด ที่สำคัญคือต้องการไนโตรเจนในปริมาณมาก สำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกนั้นจะเลี้ยงในบ่อแบบรางน้ำไหล (raceway pond) ขนาด 1,000 ตารางเมตร ระดับความลึก 30 เซนติเมตร โดยใช้ปริมาณต้นพันธุ์ 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่บ่อเลี้ยง 10 ตารางเมตร โดยเมื่อเพาะเลี้ยงได้ 3 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยจะหมุนเวียนเก็บประมาณสัปดาห์ละ 25 % โดยสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นจึงจะทำความสะอาดบ่อ ซึ่งการเพาะเลี้ยงให้ได้คุณภาพนั้นจะต้องได้รับการตรวจและรับรองคุณภาพจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดังนั้นฟาร์มของตนเองจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำที่นำมาเพาะเลี้ยง รวมถึงน้ำที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเมื่อเพาะเลี้ยงสาหร่ายมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยการบำบัดผ่านแปลงป่าชายเลนที่ปลูกไว้
         
นายวศินะ รุ่งเรือง นศ. ปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าสำหรับทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นั้น ตนจะนำไปขยายพื้นที่บ่อเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก และนำไปพัฒนาการรักษาคุณภาพของน้ำที่ใช้เพาะเลี้ยง และน้ำที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้ชาวประมงผู้มีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสตูลได้มีอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป.
โดย : * [ วันที่ ]