: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 3 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 3/ 2562
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี เปิดตัวหุ่นนวัตกรรมยางพาราเพื่อการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
รายละเอียด :

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เปิดตัวหุ่นต้นแบบจากนวัตกรรมยางพาราช่วยการฟื้นคืนชีพ หุ่นตรวจมะเร็งเต้านม หุ่นทารก และหุ่นเพื่อฝึกตรวจการตั้งครรภ์ ผลงานวิจัยข้ามศาสตร์ของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  
   
          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การดำเนินงานของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี
คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดย ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ภายใต้เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหุ่นต้นแบบจากยางพาราเพื่อใช้ในการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยเริ่มพัฒนา
หุ่นการช่วยฟื้นคืนชีพสตรีที่สามารถตรวจมะเร็งเต้านม โดยได้เปิดตัวครั้งแรกในชื่อ ฟาตีลาและอารียา ต่อมาได้พัฒนาหุ่นเสื้อคลุมตรวจมะเร็งเต้านมที่สามารถเคลื่อนย้ายและถอดได้ และหุ่นมะเร็งเต้านมที่มีขนาดแตกต่างกันและ
เปลี่ยนตำแหน่งได้ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติตรวจร่างกาย และได้พัฒนาหุ่นต้นแบบในการช่วยชีวิตทารกแรกเกิด
ที่สามารถแสดงประสิทธิภาพของการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ได้ โดยหุ่นจะแสดงภาวะขาดออกซิเจน หรือเรียกว่า ภาวะ cyanosis เมื่อผู้ช่วยฟื้นคืนชีพปฏิบัติไม่ถูกต้อง และมีเสียงร้องของทารกหากการช่วยฟื้นคืนชีพมีประสิทธิภาพ
 
         ต่อมาทีมวิจัยได้พัฒนาหุ่นต้นแบบที่ใช้ในการฝึกตรวจการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถตรวจท่าของทารกในครรภ์มารดา พัฒนาการของทารกในครรภ์ในมารดา โดยสามารถตรวจระดับยอดมดลูกแต่ละไตรมาสเพื่อให้นักศึกษา
ได้ฝึกการตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฝึกปฏิบัติงานจริงซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเพิ่มความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
         การวิจัยครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ หลายด้าน ซึ่งได้แก่ การทำวิจัยข้ามศาสตร์โดยใช้
องค์ความรู้จากศาสตร์หลายแขนงทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านศิลปกรรมศาสตร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมิติความเชื่อทางสังคม เช่น การใช้ความรู้ทางประติมากรรมมาใช้ในการช่วยเหลือ
ทางมนุษยธรรมและชีวิตผู้อื่น นอกจากนี้คุณค่าที่เกิดขึ้นต่อสังคมคือ การพัฒนาทักษะการพัฒนาผลิตนวัตกรรม
แก่ประชาชนให้รู้จักและเรียนรู้การทำวิจัยและพัฒนาตนเองให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง เนื่องจากผู้ที่ช่วยในการผลิตหุ่นต่างๆ ในครั้งนี้เป็นชาวบ้าน การที่เขาได้ฝึก ทดลองเปลี่ยนแปลงวิธีการต่างๆ ในการผลิตและพัฒนาหุ่น ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะขั้นเชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีประโยชน์กับประเทศชาติมากหากสามารถพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่มีสมรรถนะสูงเพิ่มขึ้น.
         
โดย : * [ วันที่ ]