ม.อ.ปัตตานี สร้างนวัตนกรรมจากยางพาราผลิตหุ่น CPR ช่วยชีวิตผู้หญิงตรวจมะเร็งเต้านมได้สำเร็จเป็นตัวแรกของโลก ชื่อ ฟาตีลา เพื่อผลิตอุปกรณ์ฝึกทำหัตถการให้เพียงพอแก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาลรวมถึงแพทย์และพยาบาล และเรียนรู้การช่วยชิวิตผู้หญิงมุสลิมให้ถูกต้อง
ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฝึกปฏิบัติต้นแบบเพื่อช่วยชีวิตโดยใช้ยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานีพัฒนาหุ่น CPR ช่วยชีวิตผู้หญิงและผู้หญิงมุสลิมที่สามารถตรวจมะเร็งเต้านมในหุ่นตัวเดียวกันที่ผลิตจากยางพาราได้สำเร็จเป็นตัวแรกของโลก มีชื่อว่า ฟาตีลา แปลว่า ดอกไม้ นับเป็นนวัตนกรรมยางพาราที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีพัฒนาร่วมกับ ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนการช่วยชีวิตสตรีและสตรีมุสลิม ของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลซึ่งมีจำเป็นต้องใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มีอุปกรณ์ฝึกทำหัตถการใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อหุ่นซิลิโคนที่มีราคาแพงจากต่างประเทศแก่ มหาวิทยาลัย รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ได้นับล้านบาท
สำหรับหุ่น CPR ช่วยชีวิตผู้หญิงและผู้หญิงมุสลิมที่สามารถตรวจมะเร็งเต้านมซึ่งผลิตจากยางพารา มีความยืดหยุ่นเสมือนร่างกายมนุษย์ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและราคาถูกมากกว่าซิลิโคน โดยมี ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี อาจารย์สุนิดา อรรถอนุชิต คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี อาจารย์นิแอ นิแตและอาจารยสุธินี อินทนี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ได้ร่วมพัฒนาหุ่นต้นแบบจนสำเร็จและมอบให้โรงพยาบาลในจังหวัดปัตตานีทดลองใช้ และขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีกำลังดำเนินการสร้างหุ่นต้นแบบ CPR ช่วยชีวิตเด็กในแต่ละช่วงวัยจากยางพาราเพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และการพยาบาลของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ
|