: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 9 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 1/ 2561
หัวข้อข่าว : ความเป็นมาของชื่อ สะพาน 200 ปี สะพานสหัสวรรษ
รายละเอียด :
                                                 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
                                       วิทยาเขตภูเก็ต อำเภอกะทู้
                                       จังหวัดภูเก็ต 83120

                             วันที่ 3 ตุลาคม 2558
เรียน รองวิทยาเขตปัตตานี (รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ)
         ด้วยกระผมได้เห็นมีการนำเสนอภาพเก่าๆ ของสะพานไม้ 200 ปี ของศิษย์เก่าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวิทยาเขตปัตตานีในอดีตทางสื่อ online ต่างๆ ซึ่งภาพดังกล่าวหลายภาพเป็นภาพที่มีความ classic ทำให้เกิดความรู้สึกที่ผูกพันกับวิทยาเขตปัตตานีเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลายคนมีความสงสัยในที่มาของชื่อสะพาน 200 ปี รวมทั้งบางกรณีมีการให้ข้อมูลที่มาของชื่อนี้แบบพิสดารทางสื่อสังคม online ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าเกิดจากการที่คลองแห่งนี้เกิดมีน้ำเน่าเสียเหมือนน้ำเน่าเสียมาเป็นร้อยๆ ปี อะไรเป็นต้น ซึ่งผมเห็นว่าชื่อคลองดังกล่าวนี้มีที่มาอย่างเป็นทางการที่ชัดเจน แม้ไม่ปรากฏหลักฐานให้ตรวจสอบเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ก็สามารถใช้หลักฐานบุคคลที่ร่วมยุคสมัยดังกล่าวเป็นหลักฐานได้ และเห็นว่าประเด็นดังกล่าวนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ จึงควรให้มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ให้ถูกต้องที่มาของชื่อสะพานไม้ “สะพาน 200 ปี”
         กระผมเป็นนักศึกษารหัส 24 เมื่อแรกเข้ามายังไม่มีสะพานไม้แห่งนี้ แต่สะพานถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2525 เมื่อกระผมอยู่ชั้นปีที่ 2 สมัย อ.ปัญญ์ ยวนแหล เป็นรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งในปีดังกล่าวมีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ดังนั้นเมื่อสะพานสร้างเสร็จจึงมีการเรียกขานสะพานดังกล่าวนี้ว่า “สะพาน 200 ปี” แม้ไม่มีการตั้งชื่อกันอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะเรียกว่าเป็นการเรียกกันตามเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ซึ่งทุกคนที่ร่วมยุคดังกล่าวก็เรียกกันติดปากจนถึงปัจจุบัน
         อย่างไรก็ตามชื่อ “สะพาน 200 ปี” ยังมีความหมายโดยนัยอีกด้านในเชิงประชดประชัน กล่าวคือในสมัยนั้นนักศึกษาที่อยู่หอพัก หากจะไปเรียนที่ตึกคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ต้องเดินอ้อมไปทางหน้าตึกเทคโนโลยีทางการศึกษาซึ่งเป็นระยะทางที่ไกล จึงมีการเรียกร้องให้มีการสร้างสะพานข้ามคลองเพื่อย่นระยะทาง แต่ทางวิทยาเขตปัตตานีในสมัยนั้นอาจจะไม่ได้รีบสร้างในทันทีและอาจจะเป็นเหตุบังเอิญอะไรมิอาจจะทราบได้ที่มีการสร้างให้และแล้วเสร็จในปี 2525 ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จทำให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกว่ากล่าวจะได้สะพานตามคำเรียกร้องเสมือนกับว่าต้องรอคอยมานับร้อยๆ ปี อะไรทำนองนั้น ดังนั้นคำว่าชื่อ “สะพาน 200 ปี” จึงเป็นชื่อที่ลงตัวที่สุดของคนสมัยนั้นที่ได้ตอบโจทย์การเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และได้ระบายความรู้สึกประชดประชัน
         สำหรับที่มาของชื่อ “สะพานสหัสวรรษ” นั้น เนื่องจากสะพานไม้ 200 ปี ผ่านมาใช้งานมานาน (ประมาณ 18 ปี) จึงผุพังไปตามเวลา จึงให้มีการสร้างใหม่เป็นสะพานคอนกรีตตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 2000 จึงเรียกชื่อสะพานข้ามคลอง (คอนกรีต) นี้ใหม่ว่า “สะพานสหัสวรรษ”


         เรื่องดังกล่าวนี้ดูอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อยากให้มีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของสถานที่ที่ตรงกัน จึงใคร่ฝากเรียนท่านรองวิทยาเขตปัตตานีให้หาวิธีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวนี้เพื่อให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน บุคลากรหรือบุคคลโดยทั่วไปได้รับทราบและเข้าใจข้อมูลตรงกัน

                                                                               ด้วยความเคารพอย่างสูง
                                                                     รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม
คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม วิทยาเขตภูเก็ต
ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี รหัส 24
โดย : * [ วันที่ ]