รายละเอียด :
|
ธนาคารออมสินคัดเลือกโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีให้ได้รับเงินสนับสนุนรวม 4 โครงการเป็นเงินกว่า 6.2 แสนบาท โดยนักศึกษาคิดและพัฒนาจากวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อเป็นแนวทางการสร้างอาชีพ
ดร.สรรวภัทร พัฒโร รองคณบดีฝ่ายบริหารและประกันคุณภาพ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ดูแลหน่วยบริการวิชาการและบ่มเพาะวิชาชีพ แจ้งว่าตามที่ธนาคารออมสินได้จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในชื่อ Startup University Model เพื่อสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาในการนำองค์ความรู้มาพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม
อีกทั้งผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเป็นทุนตั้งต้นเพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ / สินค้า / บริการใหม่ รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่าย โครงการละไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีทีมนักศึกษาจากทั่วประเทศจำนวน 200 ทีมเสนอโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และได้ทำการคัดเลือกเหลือ 50 ทีม เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเป็นต้นทุนไปพัฒนา ทั้งนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้รับการพิจารณาจัดสรรทุนจากธนาคารออมสิน รวม 4 โครงการ คือโครงการยางพาราปูสระ ซึ่งมี ดร.สุพัฒน์ คงพ่วง และอาจารย์เศวต ไชยมงคล เป็นที่ปรึกษาโครงการ
ได้รับทุน 117,000 บาท โครงการชุบหยำชายแดนใต้ ได้รับทุน 164,500 บาท โครงการ hand Cream ได้รับทุน 141,000 บาท และโครงการปลาน้อยสร้างล้าน ได้รับทุน 198,800 บาท รวมเป็นเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 621,300 บาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการมีดร.วรพจน์ ปานรอด ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา บัดนี้โครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จพร้อมรายงานให้เจ้าของทุนทราบแล้ว
สำหรับโครงการยางพาราปูสระ ผู้รับผิดชอบโครงการ ประกอบด้วย นายอับดุลเลาะ หมานละงู นางสาวนภสร แก้วทองประคำ นายอนันต์ ดือราแมหะยี จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการยางพาราปูสระ คือการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้รูปแบบบ่อและใช้วัสดุทางเลือกทำบ่อเลี้ยง เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้และหรือลดรายจ่ายในระดับครัวเรือน รวมถึงเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจ
โดยใช้ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากยางพารา สนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งความคืบหน้าของโครงการคือ นักศึกษาได้ทำโรงเรือน ทำบ่อยางพาราขนาดขนาด 2*4*1 เมตร จำนวน 3 บ่อ พร้อมนำผ้ายางพารามาประกอบกับโครงบ่อ มีระบบให้อากาศ เตรียมบ่อคอนกรีต จำนวน 2 บ่อ พร้อมติดตั้งระบบน้ำและระบบให้อากาศ
ทำความสะอาดบ่อ โดยทำการเลี้ยงสัตว์น้ำเปรียบเทียบกันระหว่างบ่อยางพาราและบ่อคอนกรีต ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ได้นำลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงคอนกรีต และบ่อยางพารา เพื่อเปรียบเทียบผลการเลี้ยง เก็บข้อมูลการเจริญเติบโต อัตรารอด และอื่น ๆ ทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน และนำผลมาเปรียบเทียบ ระหว่างบ่อคอนกรีตและบ่อยางพารา ต่อไป
โครงการชุบหยำชายแดนใต้ ผู้รับผิดชอบโครงการประกอบด้วย นางสาววรรณี ซง และนางสาวฟาซียะ แวสามะ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางสาว นูรีซันร์ เจะเฮง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ นายซันนูซี การ์จิ จากคณะวิทยาการสื่อสาร โครงการชุบหยำชายแดนใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการแปรรูปอาหารมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์, ฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในการ
เป็นผู้ประกอบการจากการลงมือปฏิบัติ, ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ,ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพื่อยกระดับอาหารไทยสู่สากล และพัฒนาแนวคิด และนวัตกรรมใหม่ๆมาต่อยอดทางธุรกิจ
วิธีดำเนินการแปรรูปชุบหยำหรือน้ำพริกหยำ ซึ่งเป็นน้ำพริกที่นิยมรับประทานสด โดยการนำมาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบก้อนเพื่อเพิ่มอายุการเก็บรักษา สะดวกและง่าย โดยการละลายน้ำ สามารถใช้ได้ทั้งน้ำอุ่น และน้ำเปล่า ภายใต้มาตรฐานการผลิตอันเป็นที่ยอมรับระดับสากล โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น นอกจากเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุพื้นบ้านจากครัวไทยสู่ครัวโลก ส่วนประกอบของชุบหยำหรือน้ำพริกหยำคือ กะปิ พริก หอมแดง มะขาม น้ำตาลมะนาว และกุ้ง
โดยการนำส่วนประกอบมาปั่นให้เข้ากัน แล้วทำแห้ง ด้วยใช้เครื่อง Drum Dry เมื่อได้น้ำพริกที่ผ่านกระบวนการทำแห้งที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส แล้วนำมาอัดก้อนภายใต้การปลอดเชื้อ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์หลังจากผ่านความร้อน จึงได้น้ำพริกหยำก้อนภายใต้แบรนด์ DiPli (ดีปลี) เป็นภาษาใต้ ซึ่งมีความหมายว่าพริก
โครงการ hand Cream ผู้รับผิดชอบโครงการประกอบด้วยนายอับดุลอาซิซ แม ,นางสาวนุรวานา สะอิ ,นางสาวสุไลดา เกปัน ,นางสาวนูรไอนี เจาะกลาดี ,นางสาวมะกือซง นิซา, นางสาวสุรีวันล์ หีมแหละ ,นายอับดุลอากิม ดาฮามิ ,นายซุลกิฟลี มะสารี ,นางสาวฟาตินนาเดีย ยีสาอุ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนางสาวอัสมา ฮะ จากคณะรัฐศาสตร์ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่า
น้ำยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัย โดย ใช้นวัตกรรมใหม่ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้,เพื่อสร้างการเป็นผู้ประกอบการนักศึกษา และสร้างรายได้ในระหว่างเรียนแก่นักศึกษา และเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาจากการทางานเชิงปฏิบัติโดยตรง และเป็นประโยชน์ในระยะยาว
ยางพารา พืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ มีพื้นที่การปลูกยางพารามากถึง 9 ล้านกว่าไร่ และอัตราการผลิตน้ำยางสด ได้ประมาณปีละ 9,000 ล้านลิตร ซึ่งเมื่อทำเป็นผลผลิตยางแห้งจะได้ประมาณ 3 ล้านตัน ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ นาไปสู่ความเดือดร้อนแก่ชาวสวนยางพารา ขาดรายได้มาใช้จ่ายในครัวเรือน และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของภาคใต้ถดถอยลง จนกระทั่งได้มีงานวิจัย
ของ รศ.ดร.รพีพรรณ วิฑิตสุวรรณกุล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ค้นพบว่า กลุ่มสารชีวเคมีในเซรั่มน้ำยางสามารถตอบสนองการถูกคุกคามจากการถูกกรีดและเยียวยารักษาบาดแผลได้ จึงประยุกต์ใช้วัตถุดิบเซรั่มน้ำยางเป็นสารตั้งต้นในการผลิต สารสกัดยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้านเวชสำอางสุขภาพผิว
โดยขั้นตอนการผลิตจะรวมถึงการทำให้สารสกัดดังกล่าวปลอดจากสารที่ไม่พึงประสงค์ เช่นโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ และสารที่ออกฤทธิ์ทำให้สีผิวเข้มขึ้น พร้อมกับได้ค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์สารสกัดยางพาราอุดมไปด้วยกลุ่มสารสำคัญนานาชนิด ที่สามารถทำหน้ำที่ปรับปรุงสุขภาพผิวและเพื่อตอบโจทย์ความต้องการบำรุงและดูแลผิวของผู้บริโภค ทั้งความขาวกระจ่างใส ลดเลือนริ้วรอย และต่อต้านอนุมูลอิสระ เพื่อให้ผิวพรรณ
แลดูอ่อนเยาว์และมีสุขภาพดีอยู่เสมอ สารสกัดยางพาราสามารถจำหน่ายในราคา 45,000 บาทต่อกิโลกรัม โดยสัดส่วนการใช้น้ำยางสด 200 ลิตร ผลิตสารสกัดได้ 1 กิโลกรัม เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทยโดยการผลิต ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ทางกลุ่มจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นส่วนหนึ่ง
ในการช่วยเหลือเกษตรกร จึงได้นำงานวิจัยสารสกัดจากยางพารา มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ครีมบารุงผิวมือในชื่อ Nager Handcream โครงการปลาน้อยสร้างล้านผู้รับผิดชอบโครงการประกอบด้วยนางสาวคอลีเยาะ แวนิ,นางสาวอมีนตา แวนิ, นางสาวนูรซาวฟี พจนินท์, นางสาวอาซือมะห์ ยามิง,และ นางสาวซูไฮลา ยามากีแย จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมประมงในพื้นที่ปัตตานี เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนในพื้นที่มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่และมีการจ้างงานมากขึ้น
เพื่อสร้างการเป็นผู้ประกอบการนักศึกษา และสร้างรายได้ในระหว่างเรียน
สืบเนื่องจากปัจจุบันอาหารทะเลแปรรูปนับว่าเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางภาคใต้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอาหารทะเลที่ดีที่สุด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารทะเลในปัจจุบันมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย โดยเฉพาะการแปรรูปให้เป็นอาหารทะเลสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายและสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมเป็นจานวนมากทางโครงการจึงได้นำปลาฉิ้งฉ้าง ซึ่งเป็นปลาประเภทเดียวกันกับปลากะตักของภาคกลาง เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก มีการจับปลาชนิดนี้มาก
ในทะเลอันดามัน นอกจากนี้ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีก็เป็นแหล่งผลิต และส่งออกปลาฉิ้งฉ้างตากแห้ง หรือนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำปลา และสำหรับในตลาดท้องถิ่นอาจนำมาหมักทำบูดูฉิ้งฉ้างขายอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากพอที่จะสามารถเลี้ยงชีพครอบครัวได้ ทางโครงการจึงได้วางแผนนำปลาฉิ้งฉ้าง มาผลิตเป็นอาหารทะเลแปรรูปในชื่อปลาฉิ้งฉ้าง ทอดกรอบ ทรงเครื่องตรา Daen-Tai
(แดนใต้)
ขั้นตอนการผลิตเริ่มด้วยการนำปลาฉิ้งฉ้างมาล้างให้สะอาด เพื่อล้างความเค็มโดยให้เหลือความเค็มน้อยที่สุด แล้วจึงนำปลาไปตากแดดให้แห้งด้วยแดดจัดหนึ่งวันจากนั้นจึงนำมาทอดกรอบ โดยมีส่วนผสมคือแป้งทอดกรอบ, น้ำส้มสายชู และผงปรุงรส จากนั้นเอาเข้าเตาอบเป็นเวลา 3 ชั่วโมง แล้วนำมาเขย่าด้วยผงปรุงรสทั้ง 5 รสชาติ ได้แก่รสดั้งเดิม, รสชีส, รสสาหร่าย, รสวิงซ์แซ่บ และรสลาบ แล้วใส่บรรจุภัณฑ์ พร้อมออกสู่ตลาด .
********************************
สื่อมวลชนสามารถดาวน์โหลดข่าวนี้ได้ที่ http://pr.pn.psu.ac.th/innovationnews.docx
|