: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 1/ 2561
หัวข้อข่าว : โปรดเกล้าฯแต่งตั้งรองศาสตราจารย์ปริศวร์ ยิ้นเสน ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาภาษาเกาหลีศึกษา
รายละเอียด :
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ปริศวร์ ยิ้นเสน พนักงานมหาวิทยาลัย ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาเกาหลีศึกษา สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2555

         ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ได้ประกาศแต่งตั้งรองศาสตราจารย์ปริศวร์  ยิ้นเสน พนักงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาเกาหลีศึกษา สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2555
โดยปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนพิเศษ  279  ง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์นี้สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นชอบให้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2559 ขณะที่ท่านมีอายุ 39 ปี นับเป็นศาสตราจารย์ทางภาษาเกาหลีคนแรกของประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ความว่าครอบครัวท่านมีอาชีพเกษตรกรรม
โดยพ่อเป็นชาวสวน แม่เป็นชาวนา มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดตรัง มีพี่น้อง 6 คนซึ่งแม่ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรังแล้ว ด้วยความที่อยากเป็นครูจึงเลือกสอบเข้าในคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้เป็นนักศึกษาในโครงการคุรุทายาท สาขาวิชา
การประถมศึกษา ประกอบกับความชอบภาษาต่างประเทศ จึงได้เลือกวิชาภาษาเกาหลี เป็นวิชาเลือกเสรี ซึ่งในขณะนั้นวิชาภาษาเกาหลียังไม่เป็นวิชาเอก หรือวิชาโท เนื่องจากเป็นภาษาที่คนยังสนใจศึกษาน้อยและเป็นภาษาที่แปลกใหม่สำหรับตนเอง หลังจบการศึกษาแล้วได้เป็นครูประถมศึกษาอยู่ที่จังหวัดตรัง 1 ปี
และสอบได้ทุนรัฐบาลเกาหลีไปศึกษาภาษาเกาหลี และต่อมาได้ทุนจากมหาวิทยาลัยชอนจู สาธารณรัฐเกาหลี ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และกลับมาสอนภาษาเกาหลีที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2543 และปีต่อมาได้รับทุนรัฐบาลเกาหลี ศึกษาปริญญาเอกที่สาธารณรัฐเกาหลี หลังจากนั้นก็ได้กลับทำงานที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จนกระทั่งในปี 2557
ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

สำหรับผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือและตำราเรียน เนื่องจากหนังสือและตำราเรียนภาษาเกาหลีที่ผลิตโดยคนไทยยังมีน้อย และส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาเกาหลี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนตำราเรียนภาษาเกาหลีสำหรับคนไทย จึงได้เขียนและเรียบเรียงหนังสือเล่านี้ขึ้น และยังสามารถใช้ประกอบ
การเรียนการสอนได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งหนังสือและตำราที่ใช้ในการยื่นขอตำแหน่งครั้งนี้ มีจำนวน 9 เล่ม ประกอบด้วยภาษาเกาหลีเพื่อการท่องเที่ยว ภาษาเกาหลีเพื่อการโรงแรม และภาษาเกาหลีเพื่องานเลขานุการ ซึ่งเป็นตำราภาษาเกาหลีเพื่อประกอบอาชีพ และผลงานตำราสัทศาสตร์ภาษาเกาหลี ซึ่งเป็นตำราทางภาษา
ขั้นสูงเฉพาะทางด้านภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นเล่มแรกของไทย นอกจากนี้ยังมีตำราเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี ตำราภาษาเกาหลีกับสังคมเกาหลี ตำราสังคมและวัฒนธรรมเกาหลี  นอกจากนี้ยังมีพจนานุกรมไวยากรณ์เกาหลี และพจนานุกรมคำกริยาภาษาเกาหลี อีกด้วย

ส่วนงานวิจัยมี 2 เรื่อง คือการใช้ภาษาของเพศหญิงและเพศชายในภาษาเกาหลีโดยการวิเคราะห์จากบทละคร เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจการใช้ภาษาของเพศหญิงและเพศชายที่มีบทบาทในสังคมที่แตกต่างกัน และงานวิจัยเรื่องภาพลักษณ์ของเกาหลีที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย รวมผลงานที่ใช้ยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์จำนวน 11 เรื่อง การสร้างผลงานทางวิชาการเหล่านี้มีอุปสรรคที่ยากอยู่ก็คือการเอาชนะใจตัวเอง เนื่องจากต้องบริหารจัดสรรเวลาอย่างมีวินัย และในการสร้างผลงานวิชาการให้มีความถูกต้องทันสมัย
จะต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งเดินทางไปค้นหาเอกสารใช้ความพยายามค่อนข้างสูง

เมื่อทราบว่าได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้วงการวิชาการภาษาเกาหลีมีความเข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรก
ของประเทศไทยที่เปิดสอนภาษาเกาหลี  สิ่งที่จะฝากถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัย คืออยากให้ทุกท่านได้คำนึงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จึงควรจะมีบทบาทในการช่วยเหลือองค์กร บางท่านเป็นผู้บริหาร บางท่านเป็นสายสนับสนุน สำหรับท่านที่เป็นสายวิชาการก็ต้องพยายามผลิตผลงานทางวิชาการ และทุกคนเป็นองคาพยพที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัย จึงขอให้มีความตั้งใจมุ่งมั่นมีความพยายามในการทำงาน มีความเข้มแข็ง
เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ ม.อ.ของเราก้าวไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอกทั้งระดับประเทศและนานาชาติต่อไป.
                    ***********************************

สื่อมวลชนสามารถดาวน์โหลดข่าวได้ที่ http://pr.pn.psu.ac.th/paris.docx
(ชมภาพได้ที่  http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/goodpractise/profparit/)
โดย : * [ วันที่ ]