: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 1 ฉบับที่ 10 ประจำเดือน 62 560
หัวข้อข่าว : ปราชญ์มุสลิมโลก ๓๗ ประเทศ เปิดเวทีสัมมนาการศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ณ ม.อ.ปัตตานี
รายละเอียด :
       ๓๗ ประเทศ ส่งผู้นำและปราชญ์มุสลิม ร่วมสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง การศึกษาอิสลาม  พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและ
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เพื่อส่งเสริมคุณค่าการศึกษาอิสลามในการสร้างสันติภาพและชี้นำสังคมสู่สันติสุข
         ดร.ยูโซะ ตาเละ  ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เชิญปราชญ์และนักวิชาการมุสลิม  ๔๐ ประเทศ ร่วมสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ เรื่อง
การศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ  วิทยาลัย
อิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี นับเป็นครั้งที่  ๔  ในรอบ  ๘ ปี เพื่อส่งเสริมคุณค่าการศึกษาอิสลามในการ
สร้างสันติภาพและชี้นำสังคมสู่สันติสุข   โดยครั้งนี้มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกทวีปทั่วโลกรวม ๔๐ ประเทศ  จำนวน  ๕๐๐  คน  
มีประเทศที่ตอบรับการเข้าร่วมมาแล้ว  ๓๗  ประเทศ  ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย , บาห์เรน , บรูไน , อียิปต์ , อังกฤษ , กินี , อินเดีย ,
อินโดนีเซีย , อิรัก , ญี่ปุ่น , จอร์แดน , คูเวต , ลาว , ไลบีเรีย , ลิเบีย , จีน , มาซิโดเนีย , มาเลเซีย , มัลดีฟส์ , โมร็อกโก , ไนจีเรีย ,
โอมาน , ปากีสถาน , ฟิลิปปินส์ , กาตาร์ , รัสเซีย , ซาอุดิอารเบีย , ศรีลังกา , ซูดาน , ติมอร์-เลสเต , ตุรกี , สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ , ยูกันดา ,
ยูเครน , สหรัฐอเมริกา , เยเมน  และไทย  โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา  
         การสัมมนาดังกล่าวประกอบด้วย การนำเสนอบทความจากผู้นำประเทศมุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียง อาทิ  เชคอุมัร
อุบัยดฺ ฮาซานะฮฺ อธิบดีกรมการวิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์ , เชคอับดุลการีม ฆอศอวะนะฮฺ  
ประธานศาลฎีกาสูงสุด ประเทศจอร์แดน , ดร.มุหัมมัด  อะฮฺมัด  มุซัลลัม อัล–คอลัยละฮฺ   ผู้นำสูงสุดในศาสนาอิสลาม  ประเทศจอร์แดน ,  
ดร.อะหมัด บินหะมัด ญีลาน ที่ปรึกษาเลขาธิการองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย , ดร.อับดุลอาซีซ อุสมาน อัล-ตูวัยญีรีย์
อธิบดีองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ราชอาณาจักรโมร็อกโก , ศาสตราจารย์ ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน รัฐมนตรีประจำ
สำนักนายก สาธารณรัฐกินี และ ดร.ซอและฮฺ สุลัยมาน อัล–วูฮัยบีย์ เลขาธิการสภายุวมุสลิมโลก ประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นต้น
         ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์
สำคัญประการหนึ่งที่จะกระชับความสัมพันธ์กับพันมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทยรวมถึงสร้างเครือข่ายทางการศึกษา
ที่จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา การเปิดหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในการก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ สนองนโยบาย
ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน  ตลอดจนเสริมสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  
โดยมีการประชุมโต๊ะกลม  การแสดงปาฐกถาของผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันชั้นนำของโลกมุสลิม  การนำเสนอบทความทางวิชาการ เวทีวิพากษ์
และเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษา การประกาศปฏิญญาและแถลงการณ์ของการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ ๔  และทัศนศึกษา
โครงการพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น  
         ผลสัมฤทธิ์จากการสัมมนาสามครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีข้อตกลงจากทวิภาคี ๑๔ ฉบับ  มีกำหนด “ปฏิญญาปัตตานี” ,  มีข้อตกลงจัดการ
ประชุมอิสลามศึกษานานาชาติทุก ๆ ๒ ปี ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี , ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา  
ม.อ.ปัตตานี  ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาเอเซียน  หรือ  Asean  Education  Hub , การจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาทักษะภาษาอาหรับ
เพื่ออิสลามศึกษา (ASTEC)   , มีคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (ISCC) ,  บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง
วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กับมหาวิทยาลัยต่างๆ,  โครงการแลกเปลี่ยนแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ,  
การจัดตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา ม.อ.  ,  การจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านอิสลาม (ATSDC)  , การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการจัดการ
ข้อมูลอิสลาม (ICentre)  และ โครงการวิสาหกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (SEED)  
         “การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ที่จัดขึ้นทุก ๆ ๒ ปี นับว่าเป็นการเปิดเวทีวงวิชาการด้านอิสลามศึกษาในระดับโลก  มีการแลกเปลี่ยน
และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอิสลามศึกษาให้มีผลต่อการพัฒนาสังคมโลก โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างสันติภาพและการสร้าง
ความสามัคคีของประชาคมโลก คาดหวังว่าความร่วมมือทางวิชาการระหว่างเครือข่ายอิสลามศึกษาจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนา
และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”  ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติม

                                                 
                                               **********************************
โดย : * [ วันที่ ]