สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชิญนักวิชาการ และผู้ประกอบการ ร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล ระหว่างวันที่ 12-15 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ประกอบการแจ้งความจำนงเข้าร่วมแสดงสินค้าแล้วกว่า 100 ราย
ดร.ธวัช นุ้ยผอม ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจ้งว่าสถาบันฯ กำหนดจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล โดยได้เชิญนักวิชาการด้านฮาลาลจากจากนานาชาติ และผู้ประกอบการในประเทศไทย ร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล ระหว่างวันที่ 12-15 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการแสดงความจำนงสมัครเข้าจำหน่ายสินค้าแล้วกว่า 100 ราย ประกอบด้วยร้านอาหารและเครื่องดื่ม 15 คูหา อาหารปรุงสด 28 คูหา เสื้อผ้า -เครื่องประดับ 49 คูหา บริการหรือการท่องเที่ยว 2 คูหา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง 12 คูหา ธุรกิจอื่นๆ 3 คูหา นอกจากนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของมุสลิมในภาคใต้ให้ชมตลอดการจัดงาน
สำหรับการกิจกรรมทางวิชาการประกอบด้วย การประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น หัวข้อ นักวิจัยชุมชน HABIC การประชุม มาตรฐานฮาลาลเพื่อการจัดประชุมวิชาการและงานแสดงสินค้า การเสวนาในหัวข้อการแพทย์โดยวิถีฮาลาล ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Conference on Halal Innovation in Products and Services 2018 (i-CHIPS 2018) ทอล์คโชว์ หัวข้อ วัฒนธรรม การเดินทาง และความสวยงามของชีวิต ทอล์คโชว์หัวข้อเกี่ยวกับ SMEs HALAL กิจกรรมการประกวดเมนูอาหาร
สเต็กแพะสัมมนาการเงินฮาลาล Halal Money Day และการแข่งขัน amazing ชาชักแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 เป็นต้นผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้แจงว่าการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อกระตุ้นผู้ผลิตสินค้าบริโภค อุปโภค และบริการด้านฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความตื่นตัวและสร้างโอกาสในการเผยแพร่แหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน การขยายธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดการประสานงานที่ดีระหว่างสถาบันฮาลาลกับหน่วยงานต่างๆ นำไปสู่การทำงานร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมความรู้และงานวิจัยด้านฮาลาลทั้งสินค้าและบริการของไทยเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล .
|