: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2559
หัวข้อข่าว : รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน ศาสตราจารย์ทางภาษาเกาหลีคนแรกของประเทศไทย
รายละเอียด :
สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นชอบให้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2559 นับเป็นศาสตราจารย์ทางภาษาเกาหลีคนแรกของประเทศไทย
กองบรรณาธิการวารสารศรีตรัง ได้สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในโอกาสที่สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ในวันที่สภามหาวิทยาลัยอนุมัติ    โดยได้รับอนุมัติตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 เป็นศาสตราจารย์ที่มีอายุ 39 ปี และอยู่ในขั้นตอนรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

วารสารศรีตรัง : ขอทราบประวัติอาจารย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ : ครอบครัวผมมีอาชีพเกษตรกรรม โดยพ่อเป็นชาวสวน แม่เป็นชาวนา
มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดตรัง มีพี่น้อง 6 คน  ซึ่งแม่ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรังแล้ว ด้วยความที่อยากเป็นครูจึงได้สอบเข้าศึกษา
ในคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในโครงการคุรุทายาท สาขาวิชาการประถมศึกษา และด้วยความที่เป็นคนชอบศึกษาภาษาต่างประเทศ จึงได้เลือกวิชาภาษาเกาหลี เป็นวิชาเลือกเสรี  ซึ่งในขณะนั้นวิชาภาษาเกาหลียังไม่เป็นวิชาเอก หรือวิชาโท เนื่องจากเป็นภาษาที่คนยังสนใจศึกษาน้อยและเป็นภาษาที่แปลกใหม่สำหรับตนเอง หลังจบการศึกษาแล้วได้เป็นครูประถมศึกษาอยู่ที่จังหวัดตรัง 1 ปี และสอบได้ทุนรัฐบาลเกาหลีไปศึกษาภาษาเกาหลี และต่อมาได้ทุนจากมหาวิทยาลัยชอนจูศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และกลับมาสอนภาษาเกาหลีที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2543 และปีต่อมาได้รับทุนรัฐบาลเกาหลีศึกษาปริญญาเอกที่สาธารณรัฐเกาหลี หลังจากนั้นก็ได้กลับทำงานที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จนกระทั่งในปี 2557 ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

วารสารศรีตรัง : ขอทราบขั้นตอนและผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ : ผลงานที่ใช้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือและตำราเรียน เพราะปัจจุบันนี้หนังสือและตำราเรียนภาษาเกาหลีที่ผลิตโดยคนไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาเกาหลี และภาษาอังกฤษ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนตำราเรียนภาษาเกาหลีสำหรับคนไทย จึงได้ผลิตหนังสือ
เพื่อการเรียนการสอนขึ้นมา และที่ใช้ในการยื่นขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์มีทั้งหมด 9 เล่ม ประกอบด้วยภาษาเกาหลีเพื่อการท่องเที่ยว ภาษาเกาหลีเพื่อการโรงแรม และภาษาเกาหลีเพื่องานเลขานุการ
ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นตำราที่ช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภาษาเกาหลีที่จะสามารถ
นำไปประกอบอาชีพได้ และผลงานตำราสัทศาสตร์ภาษาเกาหลี ซึ่งเป็นตำราทางภาษาแบบเจาะลึกเฉพาะทางทางด้านภาษาศาสตร์ ซึ่งเป็นเล่มแรกของไทย นอกจากนี้ยังมีตำราที่เกี่ยวกับภาษากับวัฒนธรรมเกาหลี
ตำราภาษาเกาหลีกับสังคมเกาหลี ตำราสังคมและวัฒนธรรมเกาหลี  ส่วนหนังสือ ได้แก่ พจนานุกรมไวยากรณ์เกาหลี และพจนานุกรมคำกริยาภาษาเกาหลี ส่วนงานวิจัยมี 2 เรื่อง คือการใช้ภาษาของเพศหญิงและเพศชาย
ในภาษาเกาหลีโดยการวิเคราะห์จากบทละคร เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจการใช้ภาษาของเพศหญิงและเพศชายที่มีบทบาทในสังคมที่แตกต่างกัน และงานวิจัยเรื่องภาพลักษณ์ของเกาหลีที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย รวมผลงานที่ใช้ยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์รวม 11 เรื่อง
วารสารศรีตรัง : ความยากง่ายของการได้มาซึ่งตำแหน่งศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ : ความยากก็คือการเอาชนะใจตัวเองในการสร้างผลงาน ซึ่งส่วนใหญ่
จะไม่ค่อยมีเวลา
เนื่องจากเป็นภาษาต่างประเทศดังนั้นการสร้างผลงานที่จะให้มีความถูกต้องจะต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้ผลงานจะต้องมีความใหม่ทันสมัย จะต้องใช้ความพยายามค่อนข้างสูง
วารสารศรีตรัง : ขอทราบความรู้สึกครั้งแรกเมื่อทราบข่าวว่าได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ : เป็นธรรมดาครับเมื่อทราบข่าวว่าสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบที่จะกำหนดตำแหน่งทางวิชาการครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้วงการภาษาเกาหลีมีความเข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่การการสร้างความเข้มแข็งของการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนภาษาเกาหลี  
วารสารศรีตรัง : จะฝากอะไรถึงบุคลากรบ้าง
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ : อยากให้ทุกท่านได้คำนึงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ทุกคนจึงควรจะมีบทบาทในการช่วยเหลือองค์กร บางท่านเป็นผู้บริหาร บางท่านเป็นสายสนับสนุน สำหรับท่านที่เป็นสายวิชาการ
ก็ต้องพยายามผลิตผลงานทางวิชาการ และทุกคนเป็นองคาพยพที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัย จึงขอให้มีความตั้งใจมุ่งมั่นมีความพยายามในการทำงาน มีความเข้มแข็งเพื่อให้ ม.อ.ของเรามีความเข้มแข็งและก้าวไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอกทั้งระดับประเทศและนานาชาติต่อไป.

             *******************************


โดย : * [ วันที่ ]