รายละเอียด :
|
ม.อ.กำหนดอัตลักษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้มีความซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่ปัญญา จิตสาธารณะ หรือ IWiSe และขับเคลื่อนการพัฒนานักศึกษาตามชั้นปี หรือที่เรียกว่า PSU Blue Spirit Model
ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาวิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าบัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษา ต่างเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ที่ไม่แตกต่างกัน เมื่อจบการศึกษาแล้วต่างก็ออกไปทำงานรับใช้สังคม และพัฒนาประเทศตามหน้าที่ แต่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีความโดดเด่นด้านการเป็นคนสู้งาน และความมีจิตสาธารณะค่อนข้างสูง ซึ่งวัดจากผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ใช้งานบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังนั้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์และความโดดเด่นเชิงบวกให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้มีความแตกต่างจากนักศึกษาสถาบันต่างๆ จึงได้ออกแบบแนวคิดที่จะสร้างอัตลักษณ์ดังกล่าวขึ้น โดยมหาวิทยาลัยจะระดม
ทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร และการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมให้รองรับอัตลักษณ์ซึ่งเรียกว่า I-WiSe(ไอไวส์) หรือ Intergrity, Wisdom, Social Engagement
ความหมายของ I-WiSe ตัวอักษร I หมายถึง ฉัน และ WiSe ที่แปลว่า ฉลาด ซึ่งคือตัวย่อของ I คือ Integrity ความซื่อสัตย์ มีวินัยทั้งต่อตนเอง และต่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องศาสนา หรือความเชื่อ แต่การมีความซื่อสัตย์ มีวินัย เป็นองค์ประกอบ
ของการเป็นคนดี คำต่อมาคือ Wi ซึ่งย่อมาจาก Wisdom ที่หมายถึงใฝ่ปัญญา เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะโลกปัจจุบันหากนักศึกษาเรียนรู้เฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย และเมื่อจบไปแล้วหยุดการเรียนรู้ก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ในโลกในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ และตัวย่อสุดท้ายคือ Se
หรือ Social Engagement คือความมีจิตสาธารณะ ซึ่งมหาวิทยาลัยกำหนดให้ความมีจิตสาธารณะ เป็นคำหลักที่สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัย ที่กำหนดว่า ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ซึ่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่างก็ตระหนักในพันธกิจข้อนี้เป็นอย่างดี
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาวิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงต่อไปว่ากระบวนการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะทำพร้อมกันใน 2 ด้านคือ ด้านวิชาการ คือการเรียนการสอนที่อาจารย์ผู้สอนจะต้องโน้มน้าว หรือสอดแทรกสาระที่นำไปสู่กระบวนการ I-WiSe และการปรับหลักสูตร
ที่ให้เพิ่มสาระในเรื่องความมีวินัยทั้งต่อตนเอง และต่อสังคม การใฝ่ปัญญา ที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และความมีจิตสาธารณะหรือประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งซึ่งในข้อนี้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีความโดเด่นด้านการเป็นคนสู้งาน และความมีจิตสาธารณะมากกว่าอัตลักษณ์ตัวอื่นๆ ซึ่งคำตอบข้อนี้ได้มาจากการที่ทางกองแผนงานของมหาวิทยาลัยได้ออกแบบเครื่องมือวัดให้ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ตอบ และประการที่สองคือกระบวนการทำกิจกรรม ทั้งกิจกรรมในหลักสูตร และกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่จะส่งเสริมอัตลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานที่เรียกว่าคณะกรรมการบูรณาการวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา หรือเรียกสั้นๆว่าคณะกรรมการบวก(+) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2559
ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาวิทยาเขตปัตตานี แจ้งต่อไปว่านอกจากเรื่องอัตลักษณ์นักศึกษาแล้วก็ยังมีนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนานักศึกษาตามชั้นปี หรือที่เรียกว่า PSU Blue Spirit Model ซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปสู่ภาพใหญ่ระดับมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต
ที่มีระบบ PSU System ในการรองรับการขับเคลื่อนอยู่แล้ว กล่าวคือ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนานักศึกษาตามชั้นปี โดยนักศึกษาชั้นปี 1 เราจะพัฒนาความพร้อม หรือที่เรียกว่า Learner awareness หรือการตระหนักรู้ของนักศึกษา เด็กจะต้องรู้ว่ามาเรียน ม.อ.เพื่ออะไร จะใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างไร ซึ่งเราใช้หลัก 3 L คือ Ready to LIVE คือพร้อมที่จะอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างทั้งในความคิด ความเชื่อ การเข้าใจโลกแห่งพหุวัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้กับผู้อื่นอย่างมีความสุข L ตัวที่สองคือ Ready to LEARN พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของตนเอง พร้อมที่จะเรียนรู้วิถีแห่งอุดมศึกษา และ L ตัวสุดท้ายคือ Leady to LOVE คือพร้อมที่จะรักตัวเอง พร้อมที่จะรักเพื่อนมนุษย์ และพร้อมที่จะรักสถาบันสงขลานครินทร์ด้วย ซึ่งตอบโจทย์ว่าทำไมเราต้องประชุมเชียร์ ทำไมเราต้องร้องเพลงมหาวิทยาลัย เพราะเราจะต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ให้รู้สึกผูกพันกับสถาบันแห่งนี้ให้ได้
สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เราใช้คำว่า Community and Cultural Engagement เด็กต้องรู้จักสังคม รู้จักสิ่งแวดล้อม รู้ว่าชุมชนหรือสังคมต้องการอะไร นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ต้องสร้างเข้าใจรากเหง้าของตนเอง เข้าใจและเรียนรู้ลักษณะความจริงของสังคมโดยรอบ ผ่านกระบวนการการลงพื้นที่เก็บข้อมูล
เพื่อทำความรู้จักสังคม ซึ่งในขณะนี้วิทยาเขตปัตตานีได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ เพื่อร่วมกันผลักดันตามแผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พตชต.) ประกอบได้ด้วย 6 ตำบล
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขณะนี้นักศึกษาได้ลงไปทำงานในพื้นที่แล้ว
และสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เราใช้คำว่า Grobal Discovery คือการสัมผัสโลกกว้าง ไม่ใช่แค่รู้จักจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย แต่หมายถึงต้องทำความรู้จักต่างภูมิภาค รู้จักต่างประเทศ และรู้จักโลก การสร้างความตระหนักรู้เรื่องทักษะทางภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นภาษา
ของชาวโลกแล้ว มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้รู้จักเรียนรู้ภาษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ตลอดจนการพัฒนาสมรรถนะสากล การสร้างความเป็นพลเมืองโลกที่ดีหรือ Active Citizen ซึ่งเชื่อว่าทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เราใช้คำว่า Job Orientation คือความพร้อมสู่วัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะผู้นำ เรียนรู้การเขียนประวัติส่วนตัวเพื่อการสมัครงาน การให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องการสมัครงาน แนะนำผู้ประกอบการ การเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อดูจากจำนวนผู้จบการศึกษาแต่ละปีซึ่งมีประมาณ 2.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เพียง 1.5 ล้านคนเท่านั้นที่ได้ทำงานในระบบ อีก 1.3 ล้านคน ไม่ได้ทำงานผ่านในระบบองค์กร ซึ่งบัณฑิตกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการตกงาน ดังนั้นเราจะแก้ปัญหาบัณฑิตของเราด้วยการให้บัณฑิตสามารถสร้างงานขึ้นมาเองได้ เพราะโลกยุคใหม่มีงานอีกหลากหลายชนิดเกิดขึ้นมา
ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อนงานในลักษณะไม่มีให้เห็น เช่นการขายของโดยไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่มี Homepage หรือขายของผ่านโซเซียลมีเดียแทน จริงๆแล้วเขาต้องมีทักษะผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเราจะต้องเปิดโลกทัศน์เหล่านี้ให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยเชื่อเหลือเกินว่ากระบวนการพัฒนานักศึกษาอย่างเป็นระบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียนตามที่ได้ออกแบบข้างต้นนี้ นักศึกษาที่จบออกมาเป็นบัณฑิตจะสามารถดำรงชีวิตในท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงยังเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สอดคล้องกับการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยในกำกับ ถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอดีตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ครบ 50 ปีในปี 2560 กับอนาคตที่มหาวิทยาลัยต้องแสดงตัวตนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับตลอดจนเป็นที่พึ่งของสังคมมากยิ่งขึ้นด้วย.
********************************************
|