: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 6/ 2559
หัวข้อข่าว : นักศึกษาและบุคลากร ม.อ.5 วิทยาเขต และนักศึกษาจาก UUM มาเลเซีย ส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ผลงานค่ายพัฒนาให้โรงเรียนบ้านรูสะมิแล ปัตตานี หลังทำงานหนักมา 10 วัน
รายละเอียด :

          รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี คณะผู้บริหารและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขต และจากUUM มาเลเซีย ร่วมส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในพิธีปิดค่ายอาสาพัฒนาโรงเรียนและชุมชนรูสะมิแล โดยโรงเรียนและชุมชนรับปากจะดูแลและต่อยอดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อเช้าวันนี้ (วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2559 ) โรงเรียนบ้านรูสะมิแล รศ.ดร. ชูสักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายอนุศาสน์ สุรรณมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นางนันทา แววสง่า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ,สถานศึกษา ผู้นำชุมชน นักเรียน นักศึกษา และชุมชนรูสะมิแล ได้ร่วมในพิธีส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในพิธีปิดค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต พร้อมด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุตระ ประเทศมาเลเซีย  Universiti Utara Malaysia  ) กว่า350 คน ที่ได้ร่วมกันออกค่ายพัฒนาโรงเรียนบ้านรูสะมิแล มาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม - 4  มิถุนายน 2559
               ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ได้รายงานความเป็นมาของโครงการค่ายอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี  เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ความว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมค่ายอาสาอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ครั้งที่ 4 ในระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม - 4  มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะให้นักศึกษาให้มีทักษะการใช้ชีวิต และรู้จักการทำงานร่วมกันในลักษณะค่ายอาสาพัฒนา มีความสามัคคี และการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยและ ชุมชน นักศึกษา ทั้งนี้ในปีนี้ได้มีนักศึกษาจากUUM มาเลเซียมาร่วมออกค่ายอาสาพัฒนาด้วย จำนวน 29 คน โดยมีนักศึกษาและบุคลากรทั้งหมดที่มาร่วมออกค่ายประมาณ 350 คน
          ซึ่งหลังจากนักศึกษาจาก 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักศึกษาจากUUM มาเลเซียได้ร่วมกันก่อการสร้างร้านค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน การจัดทำซุ้มโครงเหล็กเป็นอุโมงค์สำหรับพันธุ์ไม้เลื้อย  การจัดทำแปลง ปลูกผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง  ปรับปรุงโรงเรือนเพาะเห็ด ปรับปรุงบ่อเลี้ยงปลา ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ   ทาสีและวาดภาพกำแพงโรงเรียน การปลูกป่าชายเลนบริเวณหลังโรงเรียน และกิจกรรมด้านวิชาการ เช่น การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการขยะ การบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น  การอบรมความรู้ด้านการใช้คอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียน การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า  และการอบรมอาชีพเสริม ให้แก่ชุมชน กิจกรรมด้านนันทนาการ การทัศนศึกษา สถานที่สำคัญด้านพหุวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ การร่วมเก็บขยะและทำความสะอาดพื้นที่ชายทะเล ณ บริเวณแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม - 4  มิถุนายน 2559 และในวันนี้เป็นการส่งมอบผลงานค่ายอาสาพัฒนาดังกล่าวให้แก่โรงเรียนและชุมชน
       รศ.ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวมอบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในพิธีปิดค่ายอาสาพัฒนา ความว่ามีความภาคภูมิใจที่ได้เห็นความร่วมมือของผู้บริหาร บุ
คลการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต พร้อมด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุตระ ประเทศมาเลเซีย  ที่ได้ขับเคลื่อนภารกิจค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้ จนไดรับผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ซึ่งการออกค่ายอาสาพัฒนาครั้งนี้ ก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” นับเป็นการสร้างคุณลักษณะของบัณฑิตให้มีจิตสาธารณะ เข้าใจวิถีชาวบ้านสามารถทำงานเป็นทีม อันเป็นนโยบายหลักและเป็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเรื่องการบริการชุมชน ซึ่งนอกจากเรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียนแล้วยังต้องมีการลงพื้นที่ปฏิบัติการจริง
         นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีปิดค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ครั้งที่ 4 ได้กล่าวแสดงความชื่นชมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ในการจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านรูสะมิแล ว่า เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านปรัชญา หลักการ กรอบแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง ในการขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและชุมชนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ด้วยรูปแบบกิจกรรมที่มีความหลากหลาย  การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม อันแสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการจัดงานได้อย่างดียิ่ง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดปัตตานี
         หลังจากนั้นเป็นพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือมอบศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างนายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.พัชรียา ไชยลังกา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิทยาเขตปัตตานี ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาวิทยาเขตปัตตานี นางนันทา แววสง่า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรูสะมิแล ตลอดจนคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยและชุมชน รวม 9 ท่าน

          นางนันทา แววสง่า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรูสะมิแล กล่าวว่าโรงเรียนบ้านรูสะมิแลขอขอบคุณที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาออกค่ายพัฒนาโรงเรียนในครั้งนี้  ซึ่งโรงเรียนให้ความสำคัญกับฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยโรงเรียนได้นำนักเรียนลงไปเรียนรู้ทุกวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ส่วนวันศุกร์จะเป็นการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยโรงเรียนและชุมชนรับปากจะดูแลและต่อยอดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มอบให้ และหากโรงเรียนมีปัญหา ข้อติดขัดก็จะขอความรู้จากมหาวิทยาลัยต่อไป        
         รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าโครงการค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา และบุคลากรจาก วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่  วิทยาเขตภูเก็ต วิทยาเขตตรัง และวิทยาเขตสุราษฏร์ธานี  ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม - 4  มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยในปีนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุตระ มาเลเซียเข้าร่วมโครงการด้วย ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงิน 1,050,000 บาท (หนึ่งล้านห้าหมื่นบาท) และได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ โรงแรม ธนาคาร และภาคส่วนต่างๆ ที่ให้การสนับสนุน ทั้งนี้กิจกรรมการสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง แล้วเสร็จเกือบทั้งหมด เว้นแต่การก่อสร้างอาคารร้านค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนซึ่งต้องเจาะกำแพงโรงเรียนเพื่อก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความแข็งแรงมากคงจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์จึงแล้วเสร็จ.

            *********************************
โดย : * [ วันที่ ]