รายละเอียด :
|
เมื่อเวลา 8.45 น. วันนี้ (วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม 2559) ที่โรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดค่ายอาสาพัฒนา
ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ครั้งที่ 4 มีนักศึกษาและบุคลากรจาก 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุตระ มาเลเซีย ( Universiti Utara Malaysia ) รวม 350 คน ร่วมพัฒนาโรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนับสนุนงบประมาณ กว่า 1 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ และการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมให้แก่นักศึกษา เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตปัตตานี ได้รายงานความเป็นมาของโครงการค่ายอาสาพัฒนาโรเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายอำเภอเมืองปัตตานี รองนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ปลัดเทศบาลตำบลรูสะมิแล หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนผู้แทนจากธนาคาร ห้างร้าน ต่างๆ ที่สนับสนุนโครงการ และผู้ร่วมออกค่าอาสา
รวมประมาณ 400 คน ความว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมค่ายอาสาอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ครั้งที่ 4 ในระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะให้นักศึกษาให้มีทักษะการใช้ชีวิต และรู้จักการทำงานร่วมกันในลักษณะค่ายอาสาพัฒนา มีความสามัคคี และการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยและ ชุมชน นักศึกษา
รูปแบบกิจกรรมประกอบด้วย งานด้านโครงงานการก่อสร้าง ได้แก่ การสร้างร้านค้า
เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน การจัดทำซุ้มโครงเหล็กเป็นอุโมงค์สำหรับพันธุ์ไม้เลื้อย การจัดทำแปลง
ปลูกผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปรับปรุงโรงเรือนเพาะเห็ด ปรับปรุงบ่อเลี้ยงปลา ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ทาสีและวาดภาพกำแพงโรงเรียน และกิจกรรมด้านวิชาการ เช่น การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการขยะ การบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น การอบรมความรู้ด้านการใช้คอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียน
การออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า และการอบรมอาชีพเสริม ให้แก่ชุมชน กิจกรรมด้านนันทนาการ การทัศนศึกษา สถานที่สำคัญด้านพหุวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ การร่วมเก็บขยะและทำความสะอาดพื้นที่ชายทะเล ณ บริเวณแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย คณาจารย์ บุคลากร และ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขต คณะคุณครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านรูสะมิแล ชุมชนบ้านรูสะมิแล และ คณาจารย์และนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัย UMM ประเทศมาเลเซีย รวมจำนวนประมาณ 350 คน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน บริษัทและห้างร้านต่างๆ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการสนับสนุน งบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์การเรียน พันธุ์ไม้ อาหารและเครื่องดื่ม
นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีเปิดค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ครั้งที่ 4 ได้กล่าวแสดงความชื่นชมมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านรูสะมิแล ว่า เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้านปรัชญา หลักการ กรอบแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง ในการขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและชุมชนบ้านรูสะมิแล
ด้วยรูปแบบกิจกรรมที่มีความหลากหลาย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม อันแสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการจัดงานได้อย่างดียิ่ง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดปัตตานี
รายงานข่าวจามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าโครงการค่ายอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 วิทยาเขต ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา และบุคลากรจาก วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตภูเก็ต วิทยาเขตตรัง และวิทยาเขตสุราษฏร์ธานี โดยได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2559 ณ โรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยในปีนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุตระ มาเลเซียเข้าร่วมโครงการด้วย ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงิน 1,050,000 บาท (หนึ่งล้านห้าหมื่นบาท) กิจกรรมการพัฒนาประกอบด้วยการก่อสร้างโรงเรือนต้นแบบ การจัดทำซุ้มโครงเหล็กสำหรับพันธ์ไม้เลื้อย สร้างโรงเรือนเพาะเห็ด สร้างร้านค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน ปรับปรุงบ่อเลี้ยงปลา ทาสีและ
วาดภาพกำแพงโรงเรียน จัดทำแปลงปลูกผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จัดพื้นที่ทำแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขนาดของพื้นที่ความกว้างขนาด 23 เมตร ยาว 115 เมตร การให้ความรู้ทักษะวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์ ให้แก่นักเรียน การจัดการองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การจัดนิทรรศการเรื่องการบริหารจัดการขยะ ให้บริการตัดผมให้กับนักเรียน บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น กิจกรรมกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์กับชุมชน กิจกรรมการแสดง นันทนาการ ปลูกป่าชายเลน งานด้านส่งเสริมวิชาชีพชุมชน เช่นการเพาะเห็ดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา การทำขนม และการออกแบบจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่สร้างมูลค่า เป็นต้น .
*********************************
ดาวน์โหลดข่าวได้ ที่ http://pr.pn.psu.ac.th/press5camp.doc
|