มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ร่วมกับสถานวิจัยพหุวัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ม.อ.ปัตตานี ถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้แก่ผู้นำชุมชนและแกนนำการท่องเที่ยวรอบอ่าวปัตตานี ระหว่างวันที่ 6 -7 เมษายน 2559 ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้
การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อเช้าวันนี้(6 เมษายน 2559) ที่ห้องประชุมศรีนัครี โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จังหวัดปัตตานี นายลือชัย เจริญทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปัตตานี ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ร่วมกับสถานวิจัยพหุวัฒนธรรมศึกษา
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ม.อ.ปัตตานี เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้นำชุมชน และแกนนำท่องเที่ยวชุมชนรอบอ่าวปัตตานีจากตำบลต่างๆในเขตอำเภอเมือง และอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่โดยรอบอ่าวปัตตานี ได้แก่ตำบลบานา ตำบลแหลมโพธิ์
ตำบลบาราโหม ตำบลรูสะมิแล ตำบลบางปู ประมาณ 35 คน ได้มีความรู้ในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน จะได้นำแนวความคิดและประสบการณ์ที่ได้มาจัดการการท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม
รายงานข่าวแจ้งว่า อ่าวปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารและขยายพันธุ์สัตว์น้ำ มีอาณาเขตพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอของจังหวัดปัตตานี คืออำเภอหนองจิก อำเภอเมือง และอำเภอยะหริ่ง มีพื้นที่ประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร พื้นที่บริเวณรอบอ่าวปัตตานีแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังยาวนานนับพันปี โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของปัตตานี พื้นที่บริเวณรอบอ่าวปัตตานีในตำบลบานา ตำบลตันหยงลุโละ และตำบลบาราโหม อำเภอเมือง และหมู่บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เคยเป็นเมืองท่าที่เก่าแก่ ที่เคยมีผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนาได้เข้ามาทำการค้าจากตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่นและยุโรป และมีป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไกลสุด
เพียง 20 กิโลเมตร มีสถานที่โบราณที่เป็นหลักฐานที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวไทยมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวข้างต้น มีนักท่องเที่ยวในท้องที่และพื้นที่ใกล้เคียงได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่ดังกล่าวเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเป็นเมืองเก่าของปัตตานี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำบลดังกล่าวมากมาย ดังนี้ สถานที่ โบราณสถานที่สำคัญและวัตถุโบราณในพื้นที่ ประกอบด้วย มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่รุ่นแรก ๆ ของปัตตานี มีสุสาน เจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวอยู่ใกล้มัสยิดกรือเซะ และศาลาหลุมฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในทะเลอ่าวปัตตานี ในตำบลตันหยงลุโละ มีสุสานพญาอินทิรากษัตริย์พระองค์แรกของเมืองปัตตานีที่เปลี่ยนศาสนาพุทธมานับถือศาสนาอิสลาม สุสานของสามราชินี ล้วนเป็นต้นทุน หรือทรัพยากรที่สามารถนำมาประมวลและถ่ายทอดให้แก่นักท่องเที่ยวได้รับทราบ
การอบรมถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปัตตานีประกอบด้วยการบรรยายหัวข้อ การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนโดย ดร.ปรัชญากรณ์ ไชยคช มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ บรรยายหัวข้อ การเป็นเจ้าบ้านที่ดีโดย ดร.นราวดี บัวขวัญ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล การสื่อความหมายทางการท่องเที่ยว โดย นายจรรยวรรธ สุธรรมา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้ โดยนายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้ และนายอำนาจ รักษาพล อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชุมพร การสร้างเครื่องมือการประชาสัมพันธ์และการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มาตรฐานและความปลอดภัยในการบริการด้านการท่องเที่ยวโดยนายธนิตศักดิ์ ธนาศักดิ์กุลศิริ มัคคุเทศก์ทะเลชายฝั่ง และคณะ เป็นต้น.
|