: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 3/ 59
หัวข้อข่าว : เปิดเวทีสันติภาพชายแดนใต้ ที่ ม.อ.ปัตตานี ทุกฝ่ายเห็นพ้องการใช้กระบวนการสันติภาพเป็นวิธีแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ยั่งยืนขึ้นอยุ่กับความต่อเนื่องและการมีเสถียรภาพของรัฐบาล
รายละเอียด :
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  คณะวิทยาการสื่อสาร
             ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 10 องค์กร จัดงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016”  เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ยั่งยืน  โดยมี รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นประธานในพิธีเปิด  
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวรายงานการจัดงาน  ในงานมีการปาฐกถาพิเศษ เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ  “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติสุข”  โดย พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้   นายอาวัง ญาบัต  ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI) , “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”  โดยดาโต๊ะ ซัมซามิน บิน ฮาซิม  ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ  
                   เปิดเวทีเสวนาสะท้อนย้อนคิดข่าวสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี  นำเสนอประเด็น : ผลการศึกษาสถานภาพการสื่อสารภายใต้บริบทการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ (CPCS) คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่  รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  การเสวนา “สะท้อนย้อนคิดข่าวสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี”  ร่วมอภิปรายโดย นายปกรณ์
พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันข่าวอิศรา นางสาวติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นางสาวอัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภีรกาญจน์  
ไค่นุ่นนา หัวหน้าสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  นายตูแวดานียา มือรีงิง บรรณาธิการสำนักข่าวอามาน และผู้สื่อข่าวช่อง 3 มาเลเซีย
                   เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพและข้อเสนอ  มีแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมและกลุ่มองค์กร  อาทิ   สภาประชาสังคมชายแดนใต้ , สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ , เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ , สมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ , กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชน ปาตานี , มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก , คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ , สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ  เครือข่ายสาธารณสุขยะรัง , สมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ , กลุ่มช่างภาพเพื่อสันติชายแดนใต้ , กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ , เครือข่ายชุมชนศรัทธา "กัมปงตักวา" , มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม , องค์การบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี , เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ , ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชน จังหวัดยะลา , สถาบันสันติศึกษา ม.อ. , กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  รุ่นที่ 3 , เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดยะลา , สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ , มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ , ชมรมสื่อมวลชน (เพื่อสื่อมวลชน) จังหวัดชายแดนใต้ , เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม , เครือข่ายโฆษกภาษามลายูชายแดนใต้  และเครือข่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ  เป็นต้น
                   รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประธานในพิธีเปิดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี  ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 กล่าวว่า   งานวันสื่อสันติภาพชายแดน/ปาตานี ครั้งที่ 3 และ สมัชชาสันติภาพ 2016 ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะที่ทางมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนมาตลอด การจัดงานในครั้งที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถเห็นพลังของการเชื่อมระหว่างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสันติภาพและการสื่อสารสาธารณะกับคนทำงานในภาคปฏิบัติการจริงอยู่ในกิจกรรมเดียวกัน  ความพยายามของผู้จัดงานในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองและเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นสิ่งน่าชื่นชม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างสนใจและติดตามความเป็นไปของกระบวนการสันติภาพในขณะนี้  
                   ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (DSCD)   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวรายงานว่า วัตถุประสงค์การจัดงานนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ขัดแย้งหลักและผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยสันติภาพได้รายงานความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อสาธารณะ  นอกจากนี้ยังเปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ได้ส่งเสียงนำเสนอข้อกังวล ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพชายแดน/ปาตานี เพื่อดำเนินกระบวนการสันติภาพอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และเพื่อเป็นการเปิดมุมมองจากประสบการณ์และบทเรียนของผู้ที่ทำงานสื่อสารในการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการพัฒนาของกระบวนการสันติภาพในห้วงปีที่ผ่านมา
                   พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้  เปิดเผยว่า   ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มประเทศอื่นทั่วโลก แต่ประเทศอื่นๆ สามารถแก้ปัญหาได้เนื่องจากความมีเสถียรภาพของรัฐบาล  การที่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มาจากปัญหาหลักคือเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่ลงตัว ทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้หลุดไปจากเวทีสันติภาพ ไม่ต่อเนื่อง และความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบเท่านั้น เช่น ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม  จะเห็นว่าการแก้ปัญหาในอดีตช่วงปี 2548-2550  รัฐใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุม โดยไม่ยอมรับในความเห็นต่าง และปี 2556 รัฐบาล ใช้แนวคิดกระบวนการสันติภาพ เป็นพลังขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา ได้มีการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ระหว่างไทยและมาเลเซีย อย่างเป็นทางการ รวม 4 ครั้ง ไม่เป็นทางการ รวม  เป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน 2 ครั้ง ในการสร้างความเชื่อใจ การกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง กรอบเวลา ที่ชัดเจน  ขณะนี้การเจรจาสันติภาพ อยู่ในกระบวนการจัดทำแบบทดสอบ หรือ เซฟตี้โซน  
                   “ตนมองว่า กระบวนการสันติภาพ ทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น เหตุการณ์ในพื้นที่เริ่มลดลง แต่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาจากสาเหตุการเกิดช่องว่างของเจ้าหน้าที่รัฐ  และเจตนารมณ์ของผู้กระทำมากกว่า”
พลโทนักรบ บุญบัวทอง เปิดเผยเพิ่มเติม
                   นายอาวัง ญาบัต  ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI) ได้เปิดเผยผ่านวิดีโอ ว่า  ในบริบทของกระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานี เรายังจะต้องเผชิญกับปัญหาอีกมาก อุปสรรคที่สำคัญ คือ ทัศนคติเชิงลบซึ่งกันและกัน ที่รัฐบาลยังมีข้อสงสัยและข้อกังวลกับมาราปาตานี ว่าจะมีความสามารถควบคุมสถาน การณ์ในพื้นที่ได้หรือไม่ และรัฐบาลเองก็ยังมองว่าสถานะของความขัดแย้งเป็นปัญหาภายในประเทศ ขณะที่ฝ่ายมาราปาตานีเองก็ยังไม่มั่นใจในความจริงใจของรัฐบาลที่จะหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่มีความยุติธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและมีความยั่งยืน.
โดย : * [ วันที่ ]