มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนให้อาจารย์และนักวิจัยเร่งพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าของยางทั้งในมิติของวัสดุศาสตร์ และเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยาง เน้นการใช้ยางพาราในประเทศมากกว่าการส่งออกเป็นวัตถุดิบ สร้างและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงงานยางพารา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ
รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจ้งว่าภายใต้สถานการณ์ยางพาราที่ตกต่ำในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ และนำไปสู่ความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงเร่งหาวิธีกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศ ด้วยการคิดค้นวิจัยการนำยางพารามาสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทดแทนการนำเข้า การส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบจากยางพาราทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ตลอดจนนำยางพารา มาใช้ในการสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สระน้ำที่ปูพื้นด้วยยางพารา สนามกีฬา ปูพื้นด้วยยางพารา หรือ ถนนยางพารา เป็นต้น โดยล่าสุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อนำมาสร้างถนนยางพารา 7 สาย และสนามฟุตซอลยางพารา 2 สนาม โดยคาดว่าจะสามารถใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบได้มากกว่า 78 ตัน
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อการคิดค้นนวัตกรรม และเพื่อพัฒนา
ให้มีการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ใช้ยางพารา ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยยางปูพื้นสนามกีฬา วัสดุปูสระเก็บกักน้ำจากน้ำยางข้นชนิดครีม และร่วมกับสถาบัน วิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดิม หรือการยางแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน วิจัยเพื่อพัฒนาถนนจากยางพารา นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังได้ส่งเสริมให้คณาจารย์ผลิตผลงานวิจัยอีกมากมาย อาทิ ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ผลิตวัสดุรองรับแรงกดทับอวัยวะผู้ป่วยขณะผ่าตัด ที่ผลิตจากพอลิเมอร์หุ้มยางพารา ผลิตภัณฑ์สายสวนปัสสาวะและสายน้ำเกลือจากยางธรรมชาติ ผลงานการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำยางพาราและบูรณาการวิชาความรู้ให้เป็นน้ำยางข้นชนิดใหม่เรียกว่าวัสดุยางเทอร์โมพลาสติก วิจัยกาวสำหรับติดยางกับโลหะโดยใช้กาวรองพื้นเพื่อลดการนำเข้า ผลงานรองเท้าวัว สำหรับใช้รักษาอาการเจ็บขาของโคนม ผลการวิจัยเรื่องยางทนไฟ ยางรองคอสะพาน เรือยาง ยางเพลาเรือ ยางสีข้าว ท่อน้ำหยดสำหรับเกษตรกร เป็นต้น และล่าสุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะจัดตั้ง วิทยาลัยนานาชาติยางพาราไทย-จีน ณ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชิงเต่า (QUST) และ Rubber Valley Group (RVG) มณฑลชานตง ประเทศจีน โดยจะรับนักศึกษาและเปิดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2560 เพื่อตอบสนองโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์ และรองรับโรงงานผลิตยางล้อจากประเทศจีนที่จะมาตั้งฐานการผลิตในไทยและประเทศอาเซียนในอนาคต และเป็นการสร้างเสริมองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยสงขลา- นครินทร์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาง
ผศ.ดร.อดิศัย รุ่งวิชานิวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิจัยและสามารถใช้งานในประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจนประกอบด้วยผลงานวัสดุปูสระเก็บกักน้ำจากน้ำยางข้นชนิดครีม ที่ใช้เพื่อการกักเก็บน้ำเพื่อแก้ภัยแล้ง
และเพื่อการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นผลงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2552 และในปีเดียวกันได้ไปปูสระน้ำ ที่องค์การสวนยางนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราชและปัจจุบันนี้ก็ยังสามารถกักเก็บน้ำได้ดี การสร้างสระเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกาะบุโหลนดอน อ.ละงู จ.สตูลเมื่อปี 2554-2556 และล่าสุดในปี 2558 ได้ไปสร้างสระเก็บน้ำปูพื้นด้วยยางพาราจำนวน 3 สระในพื้นที่ราบสูงที่อำเภองาว จังหวัดเชียงรายซึ่งนับว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศได้อย่างมาก โดยการปูพื้นสระน้ำจะต้องใช้ยางแห้ง 1 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร และหากสร้างสระขนาดมาตรฐานที่กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ความลึก 2 เมตร จะใช้ยางแห้งถึง 1 ตัน
รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับสถาบันวิจัยยางหรือการยางแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายางพารา
อย่างยั่งยืน โดยการร่วมวิจัยและคิดค้นการนำวัตถุดิบยางพารา มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเมื่อพัฒนาขึ้นมาแล้ว ได้นำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการ หรือสหกรณ์ต่อไป นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2559 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และภาควิชาเทคโนโลยียาง
และพอลิเมอร์ จะไปร่วมยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์สนามฟุตซอลยางพารา ร่วมกับสถาบันวิจัยยาง สภาอุตสาหกรรม และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ซึ่งไม่ว่าใครจะผลิตสนามฟุตซอลยางพารา ก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานนี้.
************************************
|