: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 2/ 58
หัวข้อข่าว : 3 องค์กรการศึกษา เปิดเวทีจำลองให้เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน รวม 8 ประเทศ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ด้านการศึกษาเตรียมสู่สังคมอาเซียน
รายละเอียด :

                  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 จังหวัดยะลา  เปิดเวทีเสวนาเยาวชนอาเซียน ครั้งที่ 1 The 1 ASEAN Youth Dialogue  (AYD 2015) เมื่อวันที่ 5-13 มกราคม 2558 เพื่อเป็นเวทีจำลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษาในสังคมอาเซียน มีนักเรียน ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกลุ่มประเทศอาเซียน รวม 46 คน จาก 8 ประเทศ  โดยมี  ผศ.ปิยะ กิจถาวร  รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดโครงการ ณ โรงแรมลีการ์เดนท์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


                            อาจารย์บดินทร์ แวลาเต๊ะ  ผู้จัดโครงการเสวนาเยาวชนอาเซียน ครั้งที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า การเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ ในปี 2558 ของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หรือกลุ่มประเทศอาเซียน  นำไปสู่การมีมาตรฐานอาเซียนในเชิงตลาดและการผลิต การเคลื่อนย้ายผู้คนผลผลิตการลงทุน และการเงินและการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมรวมถึงการศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อสถานะทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ  สำหรับประเทศไทยนั้นโดยเฉพาะเยาวชนไทยจำเป็นจะต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองในเชิงการศึกษา เพื่อสามารถแข่งขันกับเยาวชนในชาติสมาชิกอาเซียน  นอกจากนี้การสร้างมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาในวิชาพื้นฐาน  เช่นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา ส่งผลให้การเรียนการสอนในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นเอกภาพ และสามารถขับเคลื่อนประเทศสมาชิกไปสู่เป้าหมายในการนำความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป  
                  จากความสำคัญดังกล่าว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 จังหวัดยะลา  จึงได้จัดโครงการเวทีเสวนาเยาวชนอาเซียน ครั้งที่ 1 The 1 ASEAN Youth Dialogue  (AYD 2015)  เมื่อวันที่ 5-13 มกราคม 2558   เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์สำหรับตัวแทนนักเรียนและครูจากประเทศไทยและจากกลุ่มประเทศอาเซีย โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย ครู นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน รวม 46 คน จากประเทศบรูไนดารุสสลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย  ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย  โดยมีแนวคิดว่ากระบวนการพัฒนาด้านการศึกษานั้น เป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างเวทีสื่อสารระหว่างนักเรียนและครูถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องการสร้างเวทีที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ สามารถสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้มาก ตลอดจนสามารถเรียนรู้ประเด็นที่แต่ละคนแต่ละประเทศต้องการให้มีการพัฒนา เล็งเห็นถึงจุดแข็งและโอกาสของแต่ละประเทศที่จะต้องนำไปพัฒนาต่อไป อีกทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมและความเข้าใจด้านการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียนเดียวกัน
                            เวที่เสวนาเยาวชนอาเซียนครั้งนี้ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมละลายพฤติกรรม  การบรรยายพิเศษเรื่องการศึกษาข้ามวัฒนธรรม ในบริบทอาเซียน โดยคุณพรทิพย์ กาญจนนิยก อดีตผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน และการบรรยายเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รศ.ดร.อิบรอเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   และการประชุมเชิงปฏิบัติกรณีศึกษาการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอข้อมูล โดยมีโรงเรียนเป้าหมายเพื่อเป็นกรณีศึกษาประกอบด้วย โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้แก่ โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ จังหวัดปัตตานี โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ  โรงเรียนรัฐบาล ได้แก่ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา โรงเรียนเอกชนที่เป็นโรงเรียนประจำ ได้แก่ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร จังหวัดสงขลา
         อาจารย์บดินทร์ แวลาเต๊ะ  เปิดเผยถึงผลสรุปจากผู้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ว่า  นักเรียนและครูกลุ่มประเทศอาเซียนมองว่าระบบการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ เน้นให้ครูผู้สอนเป็นศูนย์กลางการเรียน ในขณะที่กลุ่มประเทศอื่นที่เข้าร่วมจะให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน ในขณะที่ทั้งโรงเรียนของรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใช้เวลาในการเรียนการสอน คือ 1 วัน เป็นเวลาที่มากกว่ากลุ่มประเทศในอาเซียน แต่เหตุใดระบบการศึกษาไทยถึงถูกจัดอันดับในลำดับท้ายๆ  นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ตั้งขอสังเกตว่าระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ควรมีการบูรณาการการเรียนการสอนทั้งสายสามัญและสายศาสนาเข้าด้วยกัน ไม่ควรมีการแบ่งแยก เพราะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเรียนการสอนทั้งสองสาย สามารถนำเนื้อหา ชั่วโมงเรียน สายศาสนาผนวกรวมกับสายสามัญได้ ทำให้มีการเรียนการสอนแค่ครึ่งวันในแต่ละวัน และไม่ได้ทำให้ระบบการศึกษาลดประสิทธิภาพแต่อย่างใด
                            อาจารย์บดินทร์ แวลาเต๊ะ  เปิดเผยต่อไปว่า ในอนาคตการถ่ายเทบุคลากรทางการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนมีมากขึ้น ประเทศใดมีการเตรียมพร้อมรองรับสังคมอาเซียนได้มาก ก็มีความได้เปรียบมากกว่า การรวมตัวของเยาวชนอาเซียนในครั้งนี้เปรียบเสมือนเวทีจำลองที่จะให้กลุ่มประเทศอาเซียนจัดการศึกษาร่วมกันได้ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการนำครู นักเรียน ทั้ง 8 ประเทศกลุ่มอาเซียนมาเรียนรู้วัฒนธรรม มีเก็บรวบรวมข้อมูล นำมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอในเวทีเสวนา และนำเสนอต่อรัฐบาลนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องทำต่อไปคือ การนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับเพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดระบบการศึกษาไทยให้มีความเป็นภูมิภาคอาเซียนต่อไป  
         “สิ่งหนึ่งที่ได้จากการเวทีเยาวชนอาเซียนครั้งนี้ คือ  ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีการบูรณาการการเรียนการสอนทั้งสามัญและศาสนาเข้าด้วยกัน พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษทั้งนักเรียนและครู  ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักกระบวนการวิเคราะห์ กระบวนการทำงานร่วมกับคนอื่นได้  และรัฐควรมองระบบการศึกษาของกลุ่มประเทศในอาเซียนเพื่อกำหนดทิศทางการจัดการการศึกษาของไทยได้ถูกและเหมาะสม”  อาจารย์บดินทร์ แวลาเต๊ะ  กล่าวเสนอแนะ

ชมภาพบรรยากาศได้ที่ http://huso.pn.psu.ac.th/ActivityImg/ASEANYouthInterDialouge2015/album/index10.html



                                       *****************************
โดย : * [ วันที่ ]