รายละเอียด :
|
นักศึกษา สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนองานวิจัยระดับชาติ หัวข้อ อนามัยเจริญพันธ์ เรื่องการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยโรคเอดส์ในชุมชนมุสลิม สามจังหวัดชายแดนใต้ คว้ารางวัลผู้นำเสนองานวิจัยดีเด่นระดับชาติในเวทีการประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2557 ครั้งที่ 27 จัดโดยสมาคมนักประชากรไทย ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา
นายณัฏฐกิตติ์ น้อยจีน นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของรางวัลผู้นำเสนองานวิจัยดีเด่นระดับชาติจากการประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2557 เปิดใจว่า กระผมได้รับทราบข่าวเรื่องที่สมาคมนักประชากรไทยส่งหนังสือเชิญชวนเข้าร่วมประชุมและเสนอบทความ จากท่านอาจารย์อัลญาณ์ สมุห์เสนิโต อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ท่านเป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยอนามัยเจริญพันธุ์ในชาวมุสลิมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ท่านเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันที่สำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้ โดยผมได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหน่วยวิจัยดังกล่าว ประจวบเหมาะกับโอกาสที่ผมต้องทำงานวิจัย 1 เรื่องในชั้นปี 4 ก่อนจะไปฝึกงาน จึงได้ปรึกษากับอาจารย์ท่านนี้และคิดหัวข้องานวิจัยร่วมกันจนสรุปออกมาเป็นเรื่อง การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ในชุมชนมุสลิม สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยงานวิจัยของผมอยู่ในกลุ่มบทความหัวข้อ อนามัยเจริญพันธ์ สมาคมนักประชากรไทยได้เปิดรับบทความจากทั่วประเทศ ครั้งนี้มีบทความจากนักศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโทร่วมอยู่ด้วย คณะกรรมการจากสมาคมนักประชากรไทย ทำการคัดเลือกบทความจาก 60 ทีม เหลือเพียง 5 ทีมสุดท้าย โดยผมติด 1 ใน 5 ทีม เป็นกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 4 ทีม และทีมผมระดับปริญญาตรี เพียง 1 ทีม มีเวลาการนำเสนอทีมละ 15 นาที และประกาศผลในวันเดียวกันปรากฏว่าทีม ม.อ.ปัตตานี คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้รับประกาศนียบัตรจากสมาคมนัก
ประชากรไทย ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา
"การทำวิจัยของผมเริ่มต้นจากการทราบข้อมูลของผู้ป่วยชาวมุสลิมที่ติดเชื้อเอดส์จากสำนักงานสาธารณะสุขในแต่ละพื้นที่โดยเฉลี่ยทั้ง 3 จังหวัด มีจำนวนกว่า 50,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่คนในสามจังหวัดกลับมองไม่เห็นและมองข้ามไปจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ และการคิดที่จะทำวิจัยเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อคนในชุมชนมุสลิม ผมได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจากชุมชนมุสลิม โดยเริ่มต้นที่ผู้นำศาสนา และครอบครัว ซึ่งการทำวิจัยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรในช่วงแรกๆ ของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพราะชาวบ้านยังไม่เข้าใจวัตถุปะสงค์ของการทำงาน แต่เมื่อได้เปิดอกพูดคุยกับผู้นำทางศาสนาบอกถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น วิธีการแก้ไขปัญหา และผลดีที่จะตามมานั้น และศึกษาว่าคนในพื้นที่ตีตราและรู้สึกอย่างไรต่อตัวผู้ป่วย ชาวบ้านก็เปิดใจและให้ข้อมูลเป็นอย่างดี ทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดสรุปงานวิจัย โดยบทสรุปของการตีตราของผู้ป่วยชาวมุสลิมที่ติดเชื้อเอดส์จะถูกตีตราทับซ้อนกันอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ นอกจากผู้ป่วยจะถูกตีตราด้วยโรคเอดส์ที่ต้องรับสภาพและการถูกรังเกลียดจากสังคมทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะถูกตีตราทับซ้อนอีกครั้งหนึ่งจากบริบททางวัฒนธรรม ศาสนา และครอบครัว บางรายถึงกับจบความสัมพันธ์ในครอบครัวลง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์จะถูกแยกเป็นอีกชนชั้น ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมใดใดของกลุ่ม เพราะถือว่าเป็นการลงโทษที่ทำผิดหลักศาสนา จนทำให้ผู้ป่วยบางรายปกปิด ปิดบังตัวตน ไม่เปิดเผยว่าตนเป็นโรคร้าย และเกิดการแพร่เชื้อไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นสถิติที่น่ากลัวตามจำนวนที่กล่าวมาข้างต้น "นายณัฏฐกิตติ์ น้อยจีน กล่าว
*************************************************
|