รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดจัดงาน วันประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง (Our Soul is for the Benefit of Mankind) ประจำปี 2557 เมื่อวันพุธที่ 24 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกและสะท้อนการดำเนินการตามพระราชปณิธาน ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยกำหนดให้มีการประกวด กิจกรรมโครงการ ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ซึ่งในส่วนของวิทยาเขตปัตตานี ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลกิจกรรม ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ได้แก่ นายอิทธิเดช รัตนะ นักวิชาการอุดมศึกษา คณะวิทยาการสื่อสาร โดยได้รับมอบเกียรติบัตรและเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท จากผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องประชุม สำนักงานอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี หลังจากได้รับรางวัลแล้ว นายอิทธิเดช รัตนะ ได้มอบเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมของเครือข่ายพัฒนานักศึกษาต่อไป
นายอิทธิเดช รัตนะ บุคลากรคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เจ้าของรางวัล ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง เปิดใจว่า โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยยินดียินร้ายกับลาภยศสรรเสริญหรือแม้แต่คำติฉินนินทามากเท่าไหร่ การที่ได้รับรางวัลนี้ ถ้าให้พูดตรงๆ ผมรู้สึกเฉยๆ แต่ในความเฉยๆของผมก็มีความภูมิใจเล็กๆที่มหาวิทยาลัยมองเห็นคุณค่าสิ่งที่ผมทำ ผมมองตัวเองว่าตัวเองได้ทำอะไรไปเยอะยังไงทำไมถึงได้รางวัล ผมว่าผมไม่ได้ทำอะไรใหญ่โตนะครับ ส่วนใหญ่งานที่ผมทำ เป็นลักษณะการส่งเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษาอยู่แล้ว การจัดโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นด้านบำเพ็ญประโยชน์และด้านอื่นๆ รวมๆแล้ว 1 ปีไม่ต่ำกว่า 20 กิจกรรม การทำกิจกรรมแนวนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามากๆ สำหรับคนในสายงานด้านกิจการนักศึกษาอย่างพวกผม และงานส่วนใหญ่ที่ผมทำผมไม่ได้ทำคนเดียว ถ้าไม่ทำกับน้องๆนักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร ก็ทำร่วมกับเครือข่ายพัฒนานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี
นายอิทธิเดช กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือมากๆคือ พระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา
ผมรู้สึกว่าผมมีเกียรติมากๆที่ได้ทำงานในม.อ. คำว่า ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง นั้นมันค้ำคอคน ม.อ.ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของม.อ.ทุกคน ตัวผมเองมีหน้าที่ดูแลและปลูกฝังจิตสำนึกนั้นให้ฝังอยู่ในใจของนักศึกษา สิ่งที่ผมทำได้คือ เริ่มต้นจากตัวผมเอง ผมไม่สามารถบังคับใครให้เป็นคนมีน้ำใจ โอบอ้อมอารีได้ แต่ผมทำตัวเองให้เป็นอย่างนั้นได้ ผมเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน และคิดว่าการเป็นคนมีน้ำใจคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสิ่งที่เราทำได้ไม่เหลือบ่ากว่าแรง มันเป็นหน้าที่หนึ่งของตัวเอง ผมไม่ทราบว่าน้องๆนักศึกษาเขาเห็นสิ่งที่เราทำหรือเปล่า แต่หน้าที่ของผมเองคือ ทำสิ่งดีๆ ให้เห็นเป็นตัวอย่างทั้งต่อหน้าและลับหลัง ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
ส่วนเรื่องเงินรางวัล 20,000 บาท ตอนแรกที่รู้ว่าจะได้รับเงินจำนวนนี้แน่ๆ แว็บแรกเลย ผมอยากมอบเป็นทุนการศึกษา 10,000 บาท แล้วที่เหลือค่อยคิดดูก่อน ผมคิดอยู่หลายวัน ทั้งคิดว่าจะพาครอบครัวไปเที่ยว เอาไปใช้หนี้ กยศ. เอาไปลงทุนปลูกมะนาว ฯลฯ คิดไปคิดมารู้สึกวุ่นวายใจมาก จะเอาเงินก้อนนี้ไปใช้ส่วนตัวก็ไม่สบายใจ จะไปทำประโยขน์อย่างอื่นก็คิดไม่ออก เลยตัดสินใจว่า ผมจะมอบให้เครือข่ายพัฒนานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ไปทำประโยชน์ดีกว่า ความทุกข์จากการมีเงินก็เลยหมดไป จากนี้ไปเครือข่ายฯจะเอาเงินไปทำประโยชน์อะไร เขาก็ต้องมาช่วยกันคิดต่อครับ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว
บทเรียนเรื่องจิตอาสาครั้งสำคัญในงานของผมคือ เมื่อประมาณกลางๆปี 2554 ผมอยากปลูกต้นทานตะวันเพื่อให้บัณฑิตที่จะกลับมารับปริญญาได้มีทุ่งทานตะวันถ่ายรูปกับชุดครุย และอยากเห็นภาพคนม.อ.ปัตตานี มาช่วยกันปลูก ช่วยกันรดน้ำ ช่วยกันดูแล พอดอกทานตะวันบานก็คงมีคนจากทั่วสารทิศแห่กันมาถ่ายรูป ภาพในหัวตอนนั้นสวยงามมาก ผมจึงเขียนโครงการของบประมาณจากคณะวิทยาการสื่อสาร และขอใช้พื้นที่ว่างๆเกือบๆ 2 ไร่ หน้าตึกคณะวิทยาการสื่อสาร ผมมีน้องๆ น.ศ.ทีมงานที่คอยช่วยกันขุดหลุมเตรียมดิน วันแรกที่ปลูกมีคนมาช่วยกันปลูกเป็นร้อยคน แต่พอปลูกเสร็จทุกคนหาย เหลือแต่น้องๆที่สนิทไม่กี่คนมาช่วยกันรดน้ำและดูแลต้นทานตะวันทุกวันตลอดเกือบ 2 เดือน ในปีนั้นผมคิดว่าผมจะทดลองดูใจ ดูจิตอาสาของคนม.อ. ว่าตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน จะมีใครมีน้ำใจมาช่วยผมรดน้ำต้นทานตะวันบ้าง ผมเตรียมบัวรดน้ำ เตรียมสายยางไว้ แต่ไม่ได้จัดเวรเพราะไม่อยากบังคับใคร คนที่มาช่วยผมก็คือน้องนศ.กลุ่มเดียวกับที่มาช่วยผมเตรียมดินและพื้นที่ปลูก บางวันน้องๆทีมงานไม่ว่างมาช่วย ผมก็รดน้ำคนเดียว พออยู่คนเดียวรู้สึกว้าเหว่มาก ตั้งคำถามกับตัวเองกลับมาว่า นี่เรามาถูกทางแล้วเหรอ ไม่เห็นใครมาช่วยเลย ไหนล่ะน้ำใจคนม.อ.ที่ผมอยากเห็น มีน้อยมาก...คำถามพวกนี้วิ่งอยู่ในหัวผมตลอด เวลาผ่านไป 2 เดือน ดอกทานตะวันเริ่มบาน คนเริ่มหันมาสนใจ แวะมาถ่ายรูป บางคนมาเป็นคู่ บางคนมาเป็นครอบครัว บางคนมาเป็นกลุ่มเพื่อน บัณฑิตที่กลับมาซ้อมรับปริญญาก็แวะมาถ่ายรูปบ้างประปราย แม้ปีแรกมีคนมาถ่ายรูปไม่มากนัก แต่ก็เป็นภาพที่ประทับใจผมและน้องๆทีมงานมากๆ
ปี 2557 เป็นปีที่ 4 ที่ปลูกทานตะวัน โดยผมปรับรูปแบบการทำงาน และรูปแบบการปลูกมาเรื่อยๆ ค่อยๆดึง น.ศ.เข้ามามีส่วนร่วมให้เยอะที่สุด(ไม่อยากเหนื่อยคนเดียว) แม้คนมาช่วยจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่เมื่อเขารู้สึกมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกๆ เขารู้สึกเป็นเจ้าของต้นทานตะวัน เขาก็จะหมั่นมาดูแลและจัดเวรกันเอง โดยผมทำหน้าที่เพียงแค่คอยสนับสนุนด้านเทคนิคบางอย่างให้ การปลูกทานตะวัน 4 ปีนี้ ผมได้สร้างบทเรียนเรื่องจิตอาสาให้กับทั้งตัวเองและน้องๆนักศึกษา ผมได้เรียนรู้ว่า คนเราทุกคนล้วนมีจิตอาสาอยู่ในใจ ต่างการตรงที่แนวทางและวิธีการแสดงออกมา ผมจึงปรับโครงการอื่นๆ ให้พัฒนาตามความถนัดของน้องๆ ตามสาขาวิชา เช่น นักศึกษาทีเรียนทางด้านไอที เขาอยากไปทำค่ายสอนเขียนเว็บให้กับน้องๆระดับมัธยมในช่วงปิดเทอม ส่วนน้องๆที่เรียนด้านศิลปะ ก็ปรับโครงการที่รุ่นก่อนเคยไปสร้างฝาย มาเป็นวาดภาพผนังอาคารโรงเรียน งานพวกนี้ต้องพัฒนาอยู่เสมอครับปรับให้เข้ากับลักษณะนิสัยและวิถีชีวิตทั้งของคนที่ไปทำกิจกรรม และผู้รับผลจากการทำกิจกรรม
ปี2557 นี้ก็มีกิจกรรมใหม่เข้ามา คือ บือแนกีตอ ทุ่งข้าวนาเรา เป็นการทดลองทำนาข้าวของนักสื่อสารครับ ดูไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่แต่เมื่อทุกคนกินข้าวก็มีสิทธิ์ที่จะได้เรียนรู้คุณค่าของการทำนาจริงๆครับ ใครจะปลูกข้าว แล้วเอาข้าวที่ปลูกไปให้ใครกิน รอติดตามนะครับ
สำหรับเรื่องประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง สำหรับชาวม.อ.เหรอครับ ผมเห็นมหาวิทยาลัยพยายามปลูกฝังแนวคิดนี้ให้กับพวกเราทุกคนนะครับ สิ่งที่ผมอยากฝากก็คือ อย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว ทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มต้นที่ตัวเองง่ายสุด อย่าเพิ่งคิดเปลี่ยนแปลงโลก หรือเปลี่ยนแปลงคนอื่นๆก่อน ให้เริ่มที่ตัวเอง เรื่องง่ายๆ ใกล้ๆตัว เรื่องที่ตัวเองทำเพื่อคนอื่นๆใกล้ตัวได้โดยเราไม่เดือดร้อน ที่สำคัญ ลงมือทำเลยนะครับ ทำให้เป็นนิสัย ให้อยู่ในเนื้อในตัวเรา หลังจากนั้นลองสังเกตดู โลกรอบๆตัวคุณจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวเอง โลกก็จะเปลี่ยนตามเรา ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร สอนผม
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/goodpractise/psu/album/index.html)
**************************************
|