วันมหิดล ประจำปี ๒๕๕๗ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
กำหนดการ
การจัดกิจกรรมเนื่องในวันมหิดล และ
วันประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประจำปี ๒๕๕๗
วันพุธที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗
พิธีสงฆ์
เวลา ๐๗.๐๐ น.- ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑๐ รูป หน้าตึกสำนักงานอธิการบดี
เวลา ๐๗.๓๐ น. - บำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน (บังสุกุล) ณ ตึกสำนักงานอธิการบดี
- ถวายภัตตาหารเช้าพระสงฆ์ ๑๐ รูป
พิธีวางพวงมาลา
เวลา ๐๘.๓๐ น. - ผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ บริเวณหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดช
วิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์
เวลา ๐๙.๐๐ น.. - ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานในพิธีจุดธูปเทียนสักการะพระราชานุสาวรีย์
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์
- ประธานในพิธีอ่านคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ
- รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี อ่านมหิตลาธิเบศรสดุดี
- ประธานวางพวงมาลา และถวายความเคารพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร
อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์
- หน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมในพิธี วางพวงมาลา และถวายความเคารพ (ชาย คำนับ หญิง ถอนสายบัว)
- เสร็จพิธี
การแข่งขันกีฬา ๕ สิงห์มหิดล
เวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๓๐ น. - การแข่งขันกีฬาและเกม ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี และโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ณ สนามกีฬาใหม่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เวลา ๑๘.๐๐-๒๒.๐๐ น. - งานเลี้ยงสังสรรค์ ๕ สิงห์มหิดล ณ โรงแรม ซี เอส ปัตตานี
มหิตลานุสรณีย์
๑๒
๏ ประณต ณ เบื้องพระบาท บรมราชชนก
พระคุณพระคอบพสก เสมออุรสธิดา
๏ พระเมตตยาธิคุณ อดุลอนันต์คณา
ประคับประคองประชา ประจักษ์ประเจิดประจง
๏ พระมอบพระกายพระกิจ อุทิศมิคิดพระองค์
ประโยชน์ประสิทธิ์ประสงค์ คะนึงคณานิกร
๏ มินานพระโอบพระเอื้อ พระเมือ ณ เมืองอมร
ประกาศพระกิจขจร ขจายพระกิตติคุณ
๏ จะหาจะเทียบจะแทน มิแม้นมิปานมิปุน
เสมอเสมือนพิรุณ ประโปรยละอองประพรม
๏ มหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
เฉลิมพระนามนิยม เสนอสนามสุธี
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า คณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(ผศ.มะเนาะ ยูเด็น ประพันธ์)
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์
พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย และ พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย และองค์บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระราชสมภพ
ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๔
ด้านการศึกษาเริ่มตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มาก ทรงศึกษาที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง และในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงเข้าเป็นนายร้อยทหารบก ในปีเดียวกันได้ทรงไปศึกษา ณ โรงเรียนมัธยมประเทศอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาวิชาทหาร และวิชาทหารเรือขั้นสูง ณ ประเทศเยอรมัน
ขณะทรงศึกษาในปีสุดท้ายทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำ หลังจบการศึกษาหลักสูตร ๔ ปี แล้ว ได้ทรงเข้าปฏิบัติงาน เป็นนายทหารในราชนาวีเยอรมัน เป็นเวลา ๓ ปี ต่อมาในปี ๒๔๕๘ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยและเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นเวลา ๙ เดือน ก็ทรงลาออกเนื่องจากทรงพบอุปสรรคในการพัฒนากองทัพเรือไทยให้เหมาะสม
ในขณะที่ทรงลาออกนั้น ได้รับทราบถึงความขาดแคลนต่างๆ ในด้านการแพทย์และการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษา เช่น ทรงส่งบุคคลไปศึกษาวิชาการแพทย์และพยาบาล ณ ต่างประเทศ โดยทุนส่วนพระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อพระราชทานทุนการศึกษาส่วนพระองค์นั้น ทรงมีพระราชดำรัสว่า เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอออกมาเรียนนี้ ไม่ใช่เงินของฉัน แต่เป็นเงินของราษฎร เขาจ้างให้ฉันออกมาเรียน ฉะนั้นเธอต้องตั้งใจเรียนให้ดีให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินเหลือ ไว้สำหรับช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป และพระราชดำรัส ที่ทรงประทานให้กับนายสวัสดิ์ แดงสว่าง (ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง) นักเรียนทุนพระราชทาน ว่า
"ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์ "
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๖๓ ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาล ตาละภัฏ ผู้สำเร็จวิชาการพยาบาล จากโรงพยาบาลศิริราช แล้วได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระธิดาและพระโอรส ๓ พระองค์คือ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
จากความสนพระทัยในวิชาการแพทย์ พระองค์ได้เข้าศึกษาวิชาสาธารณสุขจากประเทศอังกฤษ ตลอดจนศึกษาวิชาสาธารณสุข และวิชาการแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ และทรงได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ และในปีเดียวกันก็ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยและมีพระราชประสงค์ จะทำหน้าที่แพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช แต่ทางการไม่อาจสนองพระราชประสงค์ได้ เพราะเกี่ยวด้วยฐานันดรศักดิ์
ของพระองค์และพระราชประเพณี จึงทรงไม่พอพระทัยที่จะอยู่เฉย ๆ โดยไม่ได้ทำประโยชน์ จึงมีพระดำรัสว่า โดยความจงรักภักดีของฉันต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉันไม่สามารถจะรับหน้าที่ใด ๆ ของรัฐบาล เพียงแต่รับเครื่องประดับ และรับเงินเดือนสำหรับการทำเช่นนั้น ถ้าเรื่องเป็นเช่นนั้นฉันรู้สึกว่า ฉันควรจะออกจากหน้าที่นั้นดีกว่า และให้ข้าราชการที่ควรจะทำหน้าที่ และเป็นที่ต้องการ ได้รับเงินเดือนมากกว่าฉันเข้าทำแทน
ดังนั้นจึงทรงเปลี่ยนความตั้งพระทัยเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ทางโรงพยาบาลกราบทูลอัญเชิญมา ทรงมีมหาดเล็กรับใช้เพียงคนเดียว ทรงใช้ใช้เวลา
ส่วนใหญ่กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลและปฏิบัติพระองค์เยี่ยงแพทย์ธรรมดาสามัญผู้หนึ่ง ไม่โปรดให้แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานร่วมกับพระองค์ประพฤติต่อพระองค์เยี่ยงเจ้านายผู้สูงศักดิ์ ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างสามัญชน เวลาจ่ายใบสั่งยา ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยคล้ายสามัญชนว่า มหิดลสงขลา
แม้ว่าพระสุขภาพจะไม่ดีนัก แต่ก็ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมากกับการที่มีโอกาสเป็นหมอ
ได้อย่างเต็มที่ ในช่วงระยะเวลาไม่นานก็มีกิตติศัพท์แพร่หลายไปทั่วไปว่า มีแพทย์เป็นเจ้าฟ้ามาทรงปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค ผู้ป่วยไข้ที่มารับการตรวจบำบัดโรคที่โรงพยาบาลในครั้งนั้น ขนานนามพระองค์ท่านว่า หมอเจ้าฟ้า
สมเด็จพระบรมราชชนกมีโอกาสประทับที่เชียงใหม่ ให้ผู้คนชาวเชียงใหม่ได้ชื่นขมในพระกรุณา
ในชั่วเวลาไม่ถึงเดือน ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะทรงประชวร จนถึงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
ก็เสด็จทิวงคต รวมพระชนม์มายุได้ ๓๗ ปี ๘ เดือน กับ ๒๓ วัน เนื่องจากพระปับผาสะ(หรือปอด) มีน้ำคั่ง
และพระหทัยวาย นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย ดังนั้นวันที่ ๒๔ กันยายน จึงเรียกกันว่า วันมหิดล
แม้ว่าสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จทิวงคตไปแล้วกว่า ๘๐ ปี แต่พระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า
" ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ์ " ยังคงอยู่ในความทรงจำของปวงชนชาวไทย
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่าน ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์สุขของผู้อื่นตลอดพระชนม์ชีพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ จึงพร้อมใจกันจัดกิจกรรม วันมหิดล และวันถือประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง อย่างพร้อมเพรียงกัน
เพื่อพระปณิธาน
ประโยชน์ตนต้องเห็นเป็นที่สอง
ประโยชน์ของมนุษย์คิดกิจที่หนึ่ง
ทรงตรัสเอื้อเพื่อไทยได้คำนึง
ให้ปลื้มปลาบซาบซึ้งติดตรึงตรา
เป็นแสงทองส่องแทนเป็นแก่นสาร
ปณิธานปานธงลูกสงขลาฯ
มุ่งกอปรกิจคิดเอื้อเพื่อประชา
เสริมส่งค่าสมพระปณิธาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า คณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
(รศ.วันเนาว์ ยูเด็น ประพันธ์)
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/day/mahidol57/album/index.html)
**************************************
|