รายละเอียด :
|
ศาสตราจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน ลวดลายและเรื่องราว ณ ชายแดนใต้ สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น โดยมีนายนฤพล แหละตี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ณ หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กระทรวงวัฒนธรรม และ บริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด โดยมีวัตถุประสงเพื่อตอบรับนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมด้านวัฒนธรรม และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเอง ชุมชนต่อไป
การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพต่างๆ เครือข่ายด้านวัฒนธรรม และชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม การแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถกับเรื่องราวการทรงงานเกี่ยวกับผ้า ในพื้นที่ภาคใต้ การแสดงนิทรรศการเรื่อง ผ้ากับวิถีชีวิต ๓ จังหวัด ชายแดนใต้ นิทรรศการแสดงผลงานของผู้เข้ารับการอบรมกิจกรรม ร้อยหัวใจในผืนผ้า การแสดงเครื่องแต่งกายย้อนยุคมลายูดั้งเดิม คลี่คลาย และสู่ปัจจุบัน การแสดงเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์ชายแดนใต้ การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ มรดกภูมิปัญญาชายแดนใต้สู่วัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Culture) จากวิทยากรผู้มีชื่อเสียง อาทิ นายเผ่าทอง ทองเจือ,ผศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว นอกจากนี้ ได้เปิดพื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน และ สตรี ร่วมเสวนาในหัวข้อ เด็กรุ่นใหม่ เปิดใจเรียนรู้ วิถีบ้าน วิถีเรา วิถีวัฒนธรรม โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเป็นผู้ดำเนินรายการ อาทิ นิรมล เมธีสุวกุล การออกร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งในทุกกิจกรรมจะได้รับองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ เพื่อสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดงานช่างฝีมือ สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง อีกทั้งเกิดความรัก ความภาคภูมิใจของท้องถิ่นตัวเองอีกด้วย
ศ.ดร.อภินันท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินการด้วยการใช้มิติวัฒนธรรมแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในพื้นที่ โดยการถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญา และองค์ความรู้ของชาวชายแดนใต้สู่การใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนทุกระดับได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดระหว่างกัน โดยเฉพาะการหยิบยกเรื่องราวของผ้าไทยพื้นเมืองชายแดนใต้ ซึ่งมีเอกลักษณ์และเรื่องราวของลายผ้า มาเป็นสื่อกลางในการทำความเข้าใจบอกเล่าถึงมรดกภูมิปัญญาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักออกแบบในพื้นที่ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและต่อยอดนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดต่างประเทศ
ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อไปว่า จากการเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา พบว่า งานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมถูกมองข้าม และไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งที่ผลงานของศิลปินในท้องถิ่นนี้มีศักยภาพจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า การขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะช่วยละลายความตึงเครียดของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้คนหลากหลายทัศนคติ และความคิดสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายในการส่งเสริมและต่อยอดภูมิปัญญาในด้านต่างๆทั้งการออกแบบ แฟชั่น ให้นำไปสู่การประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันโดยผูกโยงเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องราวและขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในท้องถิ่นด้วย
"เรายังสามารถนำความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแปลงเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น การเขียนภาพจิตรกรรมพบว่ามีศิลปินจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้รางวัลระดับชาติอย่างมากมาย ผลงานมีมูลค่าถึงหลักแสน ขณะที่ท้องตลาดก็มีความต้องการผลงานดังกล่าวจำนวนไม่น้อย ดังนั้นจะต้องมาคิดหาแนวทางต่อยอดผลงาน ให้สามารถนำองค์ประกอบ ของงานที่ดีมีคุณภาพในท้องถิ่นมาจัดทำเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติม ที่สำคัญทางกระทรวงจะต้องส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมเพิ่มด้วย จากนั้นก็ให้นำสินค้าที่ได้รับการคัดเลือกมาขายในงานโอท็อปวัฒนธรรมที่จะมีการจัดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป" ศ.ดร.อภินันท์ กล่าว
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์
http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/culture/culturepsu/album/)
******************************************
|