: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 57
หัวข้อข่าว : ม.อ.ปัตตานี ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11 และโรงงานอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา ร่วมลงนามพัฒนายางพาราใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
        เมื่อเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2557  ที่โรงแรมบุรีศรีภู  อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงลา นายกอบชัย
สังสิทธิสวัสดิ์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง  รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายประสาทสุข นิยามราษฎร์  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา จำนวน 95 กิจการ เพื่อให้อุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ในตัวสินค้า
                   นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  ประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เปิดเผยว่า  การลงนามสัญญาความร่วมมือในครั้งนี้นับว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา ประจำปี 2557 เพื่อตกลงให้ความร่วมมือกันในการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของทั้งสามองค์กร คือคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา   และผู้ประกอบการวิสาหกิจดานยางและไม้ยางพาราจำนวน 95 กิจการ  ซึ่งทั้งสามองค์กร มีหน้าที่กำกับดูแลที่ปรึกษาให้ดำเนินงานตามเงื่อนไข และสนับสนุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ กิจการที่เข้าร่วมโครงการฯ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามคำแนะนำของที่ปรึกษา และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแนะนำกิจการที่เข้าร่วม ด้วยความรู้ความชำนาญ ความระมัดระวัง และความรับผิดชอบในการบริหารงาน โดยไม่ละเมิดสิทธิ ข้อมูล หรือ ลิขสิทธิ์ของกิจการที่เข้าร่วมโครงการหรือนำไปใช้ในกิจการอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากกิจการที่เข้าร่วมโครงการฯ
                     รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งในด้านการเรียนการสอน  การทำวิจัยและการบริการทางวิชาการด้านต่างๆ แก่ภาคอุตสาหกรรมยางพารา  ในฐานะหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านยางและไม้ยางพารา รวมทั้งมีนักวิชาการที่เข้าใจถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราอย่างแท้จริง  จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมยางเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยางให้สูงขึ้น จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปยางพารา ส่งเสริมให้วิสาหกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของอุตสาหกรรมยางพารา มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจยางพาราและไม้ยางพารา อันส่งผลให้มีการกำหนดกลยุทธ์ แนวทางการร่วมมือเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายาง รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ
            ผู้ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา  ประกอบด้วยวิสาหกิจอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวนรวม 95 กิจการ โดยมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึง เดือน กันยายน 2557  โดยมีกิจกรรมการรับสมัครโรงงานผู้เข้าร่วมโครงการฯ การคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราเข้าร่วมโครงการฯ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก การจัดทำและสร้างโมเดลจำลองรูปแบบ 3 มิติ ระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดอบรม ประชุมสัมมนา การทบทวนแผนผังองค์กรและคณะกรรมการกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจ อุตสาหกรรมยางพารา การจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายและ จัดกิจกรรมการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมยางและการเจรจาธุรกิจการค้าการลงทุน เป็นต้น โดยมี ตัวชี้วัด ผลของการดำเนินงาน ทั้งการการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์จากยางพาราตัวใหม่ออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 2 ผลิตภัณฑ์ มีการจัดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อย 2 กิจการ มีโมเดลจำลองรูปแบบ 3 มิติ ระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในโรงงานยาง จำนวนอย่างน้อย 1 โมเดล มีกิจกรรมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดต้นทุนในกระบวนการที่ปรับปรุงไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 หรือ สามารถลดปริมาณของเสียลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 รวมทั้งมีการรวมกลุ่มกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
         นายประสาทสุข นิยามราษฎร์  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา  กล่าวว่า  เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยางของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในการแข่งขันในตลาดโลก จำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้มีการใช้ยางและผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศพร้อมทั้งเร่งรัดการผลิตทั้งที่ใช้เองและเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น การต่อยอดงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง นับเป็นหัวใจสำคัญต่อการขยายผลการใช้ยางในเชิงพาณิชย์ได้โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาวัตถุดิบและการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมยางเกิดขึ้นได้จริงและต่อเนื่อง ทั้งนี้การเพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบโรงงานผลิตภัณฑ์ยางนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางแล้ว การมุ่งเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแทนการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นนั้น ยังเป็นการสร้างรายได้ส่งออกให้กับประเทศ และประกอบกับในปัจจุบันนี้มีสภาวการณ์แข่งขันในโลกธุรกิจสูง ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และการเปิดเขตการค้าเสรี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การบริการ การค้า การเงิน และการลงทุนด้วย  
           ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพารา ประจำปี 2557 โดยมีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมยาง เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยางให้สูงขึ้น โดยจัดทำกิจกรรมปรึกษาแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง  พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมยาง (Network Meeting) ซึ่งเป็นแนวทางและเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถเติบโตและรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และสภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไป.
โดย : * [ วันที่ ]