กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นำโดย พลโท สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 เข้าร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี เพื่อระดมแนวคิดที่จะให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมของนักวิชาการ ในสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าที่ดำเนินการอยู่ อันนำข้อมูลไปปรับปรุงและดำเนินด้านยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคต่อไป.
พลโท สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า การเปิดประชุมร่วมกับนักวิชาการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ครั้งนี้เป็นการ การดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายสานใจสู่สันติ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีแนวคิดว่าเป็นงานสำคัญที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันในฐานะที่ทุกคนคือเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง ภายใต้กรอบของกฎหมายและเกิดความเป็นธรรมทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันส่งเสริมความสมานฉันท์และสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้การทำงานในพื้นที่ เราไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย ทุกคนพยายามทุ่มเทในการขับเคลื่อนงานต่างๆเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขและให้เกิดสันติสุขโดยเร็ว การแก้ปัญหาข่าวลือ เป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มคนร้ายที่พยายามสร้างข่าวลือ และให้เกิดความหวาดกลัว เราพยายามทุกวิถีทางในการแก้ปัญหา และระมัดระวังด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก
กรณีคนร้ายยิงเด็ก 3 ศพ เราพยายามที่จะหาสาเหตุที่แท้จริง กับปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงแม้นจะเข้าใจว่าทหารทำ ตามความรู้สึก แต่กระบวนการสอบสวนยังไม่มีข้อเท็จจริง แต่ถ้าทหารทำจริง จะดำเนินคดีกับทหารนั้นๆอย่างแน่นอน เราจะไม่ปล่อยอย่างเด็ดขาด
ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวต้อนรับและเปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ยินดีให้ความร่วมมือ และหาแนวทางในการช่วยภาครัฐแก้ปัญหาในพื้นที่อยู่แล้ว โดยมีงานผลิตบัณฑิต บริการวิชาการ เช่นการทำโครงการเพื่อพัฒนาอาขีพ พัฒนาโครงสร้างความเป้นอยุ่ให้สามารถช่วยเหลือตนเองมากขึ้น รวมถึงการเปิดหลักสุตรอันเป้นความต้องการของคนในพื้นที่ให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสการศึกษามากขึ้นการวิจัยของคณาจารย์ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ตรงจุด
จากนั้นได้มีการระดมความคิดเห็น โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้มีการแนะนำและให้ความเห็น ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด รวมทั้ง การเข้มงวดกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนกันมากในแต่ละปี โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผลกระทบ รวมทั้งการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นการทำงาน ที่มีการกำหนดงานหลายด้าน แต่ว่าเกิดการสร้างข่าวลือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเสียมวลชน ดังนั้น เราต้องชนะกันในหมู่บ้าน จะต้องรีบสกัดกั้นขบวนการสร้างข่าวลือก่อนที่จะเสียมวลชน
|