บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างสุขภาพดี ด้วยการตั้งชมรมผู้สูงอายุแก่ชุมชนมัสยิดนุรุลอิสลาม ปากีสถาน บ้านบินยาลีมอ หมู่ 3 ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อย่างยั่งยืน โดยการริเริ่ม และขับเคลื่อนงานชมรมผู้สูงอายุ ด้วยเป้าหมายในการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุ นำผู้สูงอายุที่มีความตั้งใจ และจิตอาสาในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชนเอง ช่วยแก้ปัญหาแก่ผู้สูงอายุด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ
นางสาวนุรา อีซอ บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในการดูแลสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยอาจารย์สุบัณโย จีนารงค์ ที่ปรึกษาโครงการ ทำการศึกษา สุขภาพของผู้สูงอายุ ในชุมชนมัสยิดนุรุลอิสลาม ปากีสถาน มัสยิดนุรุลอิสลาม ปากีสถาน บ้านบินยาลีมอ หมู่ 3 ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จ.ปัตตานี ในสังคมเมืองกึ่งชนบท ได้เก็บข้อมูลผู้สูงอายุโดยใช้แบบสัมภาษณ์ตามบ้าน พบว่า มีผู้สูงอายุในชุมชนนี้ จำนวน 81 คน ด้านปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ มีโรคร้อยละ 86.27 ไม่เป็นโรคร้อยละ 13.72 และ ใน14 อันดับของโรคประกอบด้วย 3 โรคหลักคือ โรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 62.74 ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 49.01 โรคเบาหวานร้อยละ 13.72 ผู้สูงอายุบางคนกลัวและวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคของตัวเอง กังวลการเป็นภาระให้กับลูกหลาน กังวลลูกหลานไม่ได้รับการดูแล และสิ่งที่ผู้สูงอายุปรารถนามากที่สุดก็คือ การได้ประกอบศาสนกิจ เวลาลูกหลานกลับบ้านอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา
นางสาวนุรา อีซอ บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า โครงการสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ เริ่มเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2556 และเสร็จสิ้นเมื่อเดือน เมษายน 2557 โดยได้จัดกิจกรรมเพื่อระดมความคิดเห็นของชาวบ้าน วันที่ 6 กันยายน 2556 ณ ห้องประชุมมัสยิดนุรุลอิสลาม ปากีสถาน ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้ข้อสรุปว่าชาวบ้านต้องการให้มีการทำกิจกรรมรวมกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุและจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ จากการจัดเวทีประชาคมทำให้ได้โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ชุมชนมัสยิดนุรุลอิสลาม ปากีสถานเทศบาลตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีเป้าหมาย เป็นผู้สูงอายุชุมชนมัสยิดนุรุลอิสลามปากีสถาน บ้านบินยาลีมอ บัณฑิต อาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ร่วมกับก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุ โดยร่วมมือกับ เทศบาลตำบลยะรังแกนนำชุมชนและเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่
จากนั้นได้จัดอบรมให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยบูรณาการหลักการศาสนาอิสลามกับการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย สู่การมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง การบริโภคอาหารฮาลาล ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม มีการดูแลสุขภาพจิตโดยการการปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ เช่น การละหมาด ฟังการบรรยายธรรม
นางสาวนุรา อีซอ กล่าวว่า เมื่อเห็นความตั้งใจและความร่วมมือของผู้สูงอายุ ทางมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกิดชมรมผู้สูงอายุ จึงได้จัดประชุมกลุ่มย่อยตัวแทนผู้สูงอายุ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุและหารูปแบบการขับเคลื่อนกิจกรรมที่ต่อเนื่อง
สำหรับลำดับขั้นตอนในการดำเนินงาน คือ ได้ทำแบบสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุ ได้แก่ ชื่อ-สกุล ที่อยู่ อายุ และข้อมูลสุขภาพ หลังจากนั้น ออกหนังสือเชิญผู้สูงอายุทั้งหมดเข้าร่วมประชุมพร้อมกันและลงทะเบียนผู้สูงอายุหลัง จากนั้นให้ผู้สูงอายุเป็นคนคัดเลือกคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุด้วยกันเอง หลังจากได้ข้อสรุปบัณฑิตอาสาได้จัดกิจกรรมเวทีพบปะร่วมคิดร่วมทำชมรมผู้สูงอายุจากการทำกิจกรรมในครั้งนี้ได้ตัวแทนที่จะขับเคลื่อนชมรมผู้สูงอายุให้ประสบความสำเร็จ มีคณะกรรมการชมรมและที่ปรึกษาชมรมโดยชาวบ้านเป็นคนคัดเลือกจนสามารถจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลยะรังได้สำเร็จ มีสมาชิกทั้งชมรมหมด 31 คน มีคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุ 9 คน และกรรมการที่ปรึกษาชมรมผู้สูงอายุ 3 คน โดยทางชมรมจะค่อยๆพัฒนาชมรมที่ละขั้นตอนตามความเหมาะสม และมีความยั่งยืนต่อเนื่องในการทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในชุมชนแห่งนี้
อาจารย์สุบัณโย จีนารงค์ ที่ปรึกษาโครงการบัณฑิตอาสา กล่าวว่า โครงการนี้แตกต่างกับพื้นที่อื่น ที่มักจะตั้งชมรมก่อนแล้วสนับสนุนกิจกรรมตามหลัง ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มที่หน่วยงานต่างๆลงไปผลักดันลักษณะนี้มักไม่เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ในขณะที่โครงการนี้ให้ผู้สูงอายุที่มีความตั้งใจ และจิตอาสาในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชนเอง ซึ่งจะทำให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน
|