รายละเอียด :
|
คณะวิทยาการสื่อสาร คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดประชุมนานาชาติเรื่องการสื่อสาร ความขัดแย้ง ลักระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 โดยมี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด มีนักวิชาการ นักวิจัย สื่อมวลชน และนักศึกษา เข้าร่วมการประชุมกว่า 200 คน กิจกรรมประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ เช่น เรื่อง จากระเบิดถึงป้ายผ้า การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธ โดย ศาสตราจารย์ ดร.Stein Tonnesson สถาบันวิจัยสันติภาพแห่งกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เรื่องระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง โดย Sanjana Yajitha Hattotuwa ศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา
เรื่อง วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดย รศ.ดร.Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย การเสวนาเรื่องภูมิทัศน์กระบวนการสันติภาพในเอเชีย : ความสำเร็จและสิ่งท้าทาย โดย Victor Biak Lian ผู้อำนวยการปฏิบัติการ Euro-Burma Office กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม Raul Torralba,Initiatives for International Dialogue (IID) มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ Dr.Kerstin Duell ที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านประเทศเมียนมาร์
การแสวนาเรื่อง บนเส้นทางสันติภาพ : ชายแดนใต้/ปาตานีในสถานการณ์ใหม่ โดย ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ พลตรีนักรบ บุญบัวทอง คุณดอน ปาทาน คุณรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช คุณรอมฏอน ปันจอร์ คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
การแสดงนิทรรศการภาพถ่าย บางอย่างที่อยากบอก โดยเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ นิทรรศการภาพถ่าย เมียนมาร์ในห้วงเปลี่ยนผ่าน โดย Dr.Kerstin Duell นิทรรศการความรู้และเวทีเสวนาเรื่องการจัดการความรู้เพื่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยโครงการการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับปัญหารากเหง้าและแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงมีจำนวนมาก ทั้งมิติการเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาคประชาสังคม แต่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารค่อนข้างมีจำกัด ทั้งที่องค์ความรู้ด้านนี้เป็นประเด็นสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพทั้งในเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เวทีประชุมนานาชาติในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสของนักวิจัย นักวิชาชีพ และทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันค้นหาบทบาทของการสื่อสารในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและความรุนแรงไปสู่สันติภาพ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความเข้าใจและเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากประเทศต่างๆ เดินทางมาศึกษาวิจัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก ซึงทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ โดยคณะวิทยาการสื่อสาร ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านความขัดแย้งและความรุนแรง ส่วนศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ได้นำองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ กำหนดเป็นแนวทางในการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง การสื่อสาร ความขัดแย้ง ลักระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมุ่งอธิบายว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกแห่งล้วนต้องแก้ไขด้ายวิถีทางการเมืองและกระบวนการสื่อสารที่มีพลัง
*************************
|