แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เรื่อง ความเห็นต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ในวาระที่สาม
จนก่อให้เกิดกระแสการคัดค้านจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างกว้างขวางนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีปัญหาในทางกฎหมาย ดังนี้
ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความไม่ชอบธรรมในหลายประการ ทั้งในด้านกระบวนการนิติบัญญัติที่
ไม่เป็นไปตามหลักการทั่วไปของการร่างกฎหมายในระบบรัฐสภา และมีลักษณะรวบรัดและเร่งรีบโดยไม่เปิดโอกาสให้สังคมได้มีโอกาสรับทราบและแสดงความคิดเห็น รวมถึงความชอบธรรมในด้านเนื้อหาสาระซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยประเด็นสำคัญ คือ ไม่เป็นไปตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่
สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการไว้ในวาระที่หนึ่ง คือ การนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมืองและได้กระทำความผิดเนื่องจากเหตุดังกล่าว แต่ได้ขยายความรวมไปถึงแกนนำในการชุมนุม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งบุคคลกลุ่มดังกล่าวควรต้องรับผิดชอบพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยต่อไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังได้ขยายความรวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานทุจริตและประพฤติมิชอบโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมืองของประชาชนแต่อย่างใด และการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าวจะเป็นเหตุให้ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้งร่างกฎหมายนี้ยังมีปัญหาในด้านความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย โดยอาจก่อให้เกิดการตีความที่ครอบคลุมไปถึงกรณีเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเหตุการณ์เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจสร้างความอยุติธรรมและเป็นปัจจัยให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐบาล และพรรคการเมืองต่าง ๆ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์แท้จริงของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยคำนึงถึงการรักษาหลักนิติธรรมและการสร้างความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6 พฤศจิกายน 2556
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/activity/coup/declaration.html)
*************************************
|