รายละเอียด :
|
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้รับ รางวัลชนะเลิศ นักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติดีเด่น ระดับชาติ โล่ห์รางวัล เกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท ในงาน วันสหกิจศึกษาไทย ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด สหกิจศึกษาไทย กลไกสู่การพัฒนาประชาคมอาเซียนพลัส จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับสมาคมสหกิจศึกษาไทย และ 9 เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายอับดุลรอฮิม ดาซิง และนายอับดุลฮากิม ดือราแมง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาปัตตานี ผู้ได้รับ รางวัลชนะเลิศ นักศึกษาสหกิจศึกษานานาชาติดีเด่น ระดับชาติ จากโครงงานเรื่อง Employment Tendency of Thai Labour in the Sultanate of Oman เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสฝึกงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน ซึ่งสอดคล้องกับสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังศึกษาอยู่ โดยทำหน้าที่ฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ และฝ่ายกงสุลแผนกการตรวจลงตรา (วีซ่า) ซึ่งงานหลักได้แก่ สรุปข่าว บทความ สรุปสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในรัฐสุลต่านโอมานและสาธารณรัฐเยเมน ข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยในหนังสือพิมพ์โอมาน การติดต่อกับหน่วยงานราชการ การพบปะกับนักธุรกิจ การเยี่ยมนักโทษไทย การรับคำร้องขอตรวจลงตรา นิติกรณ์ รวมทั้งได้เป็นตัวแทนขึ้นแสดงรำมวยไทยต่อหน้าเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ในงานวันชาติหรือวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
ในการปฏิบัติสหกิจศึกษาครั้งนี้ นักศึกษาทั้งสองได้จัดทำ 2 โครงการได้แก่ สรุปกฎหมายแรงงานของรัฐสุลต่านโอมาน และ วิจัยเชิงคุณภาพในหัวข้อ สถานการณ์แรงงานไทยในรัฐสุลต่านโอมาน แต่ในการนำเสนอผลงานสหกิจศึกษาได้เลือกหัวข้อ แนวโน้มการจ้างแรงงานไทยในรัฐสุลต่านโอมาน มานำเสนอ ทั้งนี้ ทั้งสองโครงการดังกล่าว ได้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สถานเอกอัครราชทูต และแรงงานไทยที่จะเข้ามาทำงานในรัฐสุลต่านโอมาน
งานวิจัย แนวโน้มการจ้างแรงงานไทยในรัฐสุลต่านโอมาน สรุปได้ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในรัฐสุลต่านโอมานอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 500 คน ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะได้รับค่าจ้าง ประมาณ 12,000-20,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถและฝีมือ พร้อมกับได้รับสวัสดิการที่พักอาศัย พร้อมอาหาร รถรับ-ส่ง และการรักษาพยาบาล สำหรับแน้วโน้มการจ้างแรงงานไทยในรัฐสุลต่านโอมานยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำมากเมื่อเทียบกับการจ้างในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์ ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลมาจากอัตราค่าจ้างแรงงานต่างชาติจากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล และศรีลังกา อยู่ในระดับต่ำมาก นายจ้างสามารถเลือกจ้างได้ง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า และแรงงานจากชาติที่กล่าว ล้วนมีความสัมพันธ์ วิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนาที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะแรงงานอินเดียที่มีมากที่เป็นชุมชนใหญ่ที่สุดในประเทศนี้
ส่วน สรุปกฎหมายแรงงานของรัฐสุลต่านโอมาน เป็นการสรุปจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมีทั้งหมด 125 มาตรา ซึ่งรัฐสุลต่านโอมานได้แก้ไขกฎหมายแรงงานใหม่ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัตได้มอบหมายให้สรุปกฎหมายแรงงานที่แก้ไขล่าสุดเพื่อเป็นประโยชน์แก่แรงงานไทย และเพื่อเป็นคู่มือแก่ผู้ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับการจ้างแรงงานในรัฐสุลต่านโอมาน การสรุปกฎหมายแรงงานฉบับนี้ ได้แบ่งเป็นสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง และเลือกมาตราที่เป็นสิทธิและหน้าที่โดยการแบ่งเป็นบทต่างๆ ได้แก่ การจ้างงานคนโอมานและต่างชาติ สัญญาการจ้างงาน ค่าจ้าง การจ้างงานผู้เยาว์ ชั่วโมงการทำงาน การจ้างงานสตรี การจ้างงานภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานในเหมืองแร่ การจัดการความขัดแย้ง และการลงโทษ
|