รายละเอียด :
|
บ่ายวันนี้ (28 ธันวาคม 2555) ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักจุฬาราชมนตรี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วม
แถลงข่าวการสัมมนานานาชาติด้านอิสลามศึกษา เปิดเวทีปราชญ์มุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษา 40 ประเทศ ร่วมถกอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย โดยมี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา ดร. ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา วิทยาเขตปัตตานี แถลงผลจากการสัมมนาครั้งที่ 1 รูปแบบการสัมมนา และผลที่ได้รับจากการสัมมนาในปี 2556 นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงถึงความคาดหวังของรัฐต่อการสัมมนาในครั้งนี้ และ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี แถลงถึงความคาดหวังของสังคมมุสลิมที่มีต่อการสัมมนา ทั้งนี้การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการเพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทายว่า การสัมมนาเรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย เป็นมิติใหม่ทางด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย ที่จะได้รับรู้แนวคิดและประสบการณ์จากปราชญ์ด้านอิสลามศึกษานานาชาติจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการอิสลามทั่วโลก ร่วม 700 คน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการเพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เท่าเทียมกับนานาชาติ นั้น จำเป็นที่จะต้อง
ได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก ที่จัดการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษาโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาไทยนิยมไปศึกษา
การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีกำหนดการโดยสังเขปดังนี้ วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 อ่านดุอาเปิดการสัมมนาโดย จุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล การปาฐกถาพิเศษ โดย H.E.Dr.Abdulaziz Othman Altwaijri ผู้อำนวยการ Islamic Educational, Scientific and Cultural Organization (ISESCO) , H.E.Prof.Dr.Koutoub Moustapha Sano รัฐมนตรีความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ สาธารณรัฐกีนี , H.E.Prof.Dr.Umar Ubaid Hasnah ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและอิสลามศึกษา และรัฐมนตรีว่ากระทรวง
ศาสนสมบัติและกิจการศาสนา ประเทศกาตาร์ , Prof.Dr.Muhammad Awwad จากมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร
ประเทศอิยิปต์ และปาฐกถา โดย Prof.Dato Dr.Muhammad Kamal Hassan จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ประเทศมาเลเซียและในภาคบ่ายจะเป็นการเปิดการสัมมนาโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในวันที่ 15 มกราคม 2556 เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 20 หัวข้อ และกล่าวปิดการสัมมนาโดย รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา สำหรับในวันที่ 16 และ 17 มกราคม 2556 คณะผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ก่อนเดินทางกลับ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการนานาชาติด้านอิสลามศึกษาได้ทราบว่าผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยอย่างมีความสุขและเสมอภาค ไม่ต่างจากผู้นับถือศาสนาอื่นๆ
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติเมื่อปี 2553 ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่อียิปต์ การ์ต้า จอร์แดน ซูดาน ชาด แทนซาเนีย ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดิอารเบีย โมร็อคโค ตูนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการในประเทศไทย รวม 413 คน ได้ประกาศปฏิญญาปัตตานี ในการร่วมมือและสนับสนุนการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศไทย และกำหนดให้มีการจัดสัมมนาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุก ๆ 2 ปี สำหรับการสัมมนานานาชาติในปี 2556 มีการนำเสนอบทความจากนักวิชาการต่างประเทศ และนักวิชาการไทย การวิพากษ์และเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษาในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกา และเอเซีย การประชุมโต๊ะกลมโดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอิสลาม
การประกาศข้อสรุป และจัดทำข้อตกลงโดยคณะผู้เข้าร่วมประชุม และเยี่ยมชมและศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ ในอนาคต
ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบัน
การศึกษาทางด้านอิสลามศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2533 ปัจจุบัน ได้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตในสาขาต่างๆ ทางด้านอิสลามศึกษา เช่น สาขาวิชากฎหมายอิสลาม อิสลามศึกษา ครุศาสตร์อิสลาม เศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลามและสาขาวิชาตะวันออกกลางศึกษา โดยมีการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยมีความมุ่งมั่นจะพัฒนาเข้าสู่ความเป็นวิทยาลัยอิสลามศึกษานานาชาติต่อไป การพัฒนาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเปิดการเรียนการสอนอิสลามศึกษานานาชาติ ขึ้นโดยรับนักศึกษาไทยและต่างชาติเข้าศึกษาใช้ภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน ปัจจุบันมีนักศึกษาในโปรแกรมอิสลามศึกษานานาชาติจำนวน 125 คน มีนักศึกษาไทยจำนวน 101 คน และมีนักศึกษาต่างชาติอีก 24 คน จากประเทศจีน กัมพูชาและจากกลุ่มประเทศแอฟริกา
ดร.ยูโซะ ตาเละ กล่าวต่อไปว่า การสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษานานาชาติ (ISIP) ให้มีความเท่าเทียมในระดับเดียวกับนานาชาติ นั้น จำเป็นจะต้องแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา และในขณะเดียวกันหลักสูตรอิสลามศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต ประกอบกับการสัมมนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนา และครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทยได้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย เพื่อที่จะได้นำความรู้ ไปถ่ายทอดให้เยาวชนได้รับทราบถึงความร่วมมือและแนวคิดของปราชญ์ด้านอิสลามศึกษาจากทั่วโลก
ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาอิสลามรุ่นใหม่ เป็นการศึกษาอย่างวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ อดทน และนำหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง มาเผยแพร่แก่มวลมนุษยชาติให้มีความรู้และมีคุณธรรม สื่อสารกับคนทั้งโลก เพื่อให้เข้าใจหลักศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ มีความเข้าใจร่วมกัน และเคารพ ศรัทธา ตกลงร่วมกันเป็นเครือข่ายทำงานบูรณาการร่วมกัน มีการเชื่อมโยงกับความรู้ในสาขาต่าง ๆ พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การพัฒนาทางสังคม และนำมาซึ่งความสันติสุข การจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ มีความสำคัญที่น่าชื่นชมคือ การรวมตัวของผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามระดับรัฐมนตรี นักปราชญ์ทางด้านอิสลามศึกษา จากทั่วทุกมุมโลก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันจะส่งผลให้ ประชาคมโลกได้เห็นตระหนักว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายในการทำนุบำรุงศาสนาอย่างมีความเสมอภาค ศรัทธาว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการที่จะเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของการทำนุบำรุงศาสนาอิสลาม และประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้มารับรู้ ถึงศาสตร์ที่รุ่งเรืองของจังหวัดปัตตานีในอดีต ตลอดจนผู้นำศาสนา และครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทยได้รับรู้ทิศทางอิสลามศึกษาในระดับนานาชาติ.
|