รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยัน พร้อมให้การต้อนรับนักวิชาการมุสลิมจากทั่วโลก ในการสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานเปิดการสัมมนา ขณะนี้มี 35 ประเทศตอบรับเข้าร่วมสัมมนาแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจ้งว่าตามที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา กำหนดจัดการจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทายหรือ Islamic Studies in Changing World : Challenges and Opportunities ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากนักวิชาการ และผู้นำประเทศ แล้วกว่า 35 ประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเชิญนักวิชาการรวม 40 ประเทศ กว่า 700 คนเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในปฏิญญาปัตตานีที่นักวิชาการด้านอิสลามศึกษาตกลงกันว่าจะมาร่วมสัมมนาที่ปัตตานีทุก 2 ปี เพื่อร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความร่วมมือและพัฒนาการจัดการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ
สำหรับกำหนดการสัมมนา โดยสังเขปมีดังนี้ วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 มีการอ่านดุอาเปิดการสัมมนาโดย ฯพณฯจุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล การปาฐกถาพิเศษ โดยผู้อำนวยการ Islamic Educational, Scientific and Cultural Organization (ISESCO) , รัฐมนตรีความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ สาธารณรัฐกีนี , ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และอิสลามศึกษา, รัฐมนตรีว่ากระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนา ประเทศกาตาร์ และปาฐกถา โดยตัวแทนจากมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ประเทศอิยิปต์ ทั้งนี้ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา และในภาคบ่ายจะเป็นการเปิดการสัมมนาโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนในวันที่สองของการสัมมนาคือวันที่ 15 มกราคม 2556 เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 20 หัวข้อ หลังจากนั้นจะกล่าวปิดการสัมมนาโดย
ฯพณฯ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา สำหรับในวันที่ 16 และ 17 มกราคม 2556 คณะผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ก่อนเดินทางกลับ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการนานาชาติด้านอิสลามศึกษาได้ทราบว่าผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทยอย่างมีความสุขและเสมอภาคไม่ต่างจาก
ผู้นับถือศาสนาอื่นๆ
รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่าการสัมมนาในปีนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติเมื่อปี 2553 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดขึ้น ซึ่งในครั้งนั้นตัวมีแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่อียิปต์ การ์ต้า จอร์แดน ซูดาน ชาด แทนซาเนีย ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดิอารเบีย โมร็อคโค ตูนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการในประเทศไทย รวมสัมมนากว่า 400 คน โดยที่ประชุมที่ได้กำหนดข้อตกลงที่เรียกว่าปฏิญญาปัตตานี ซึ่งมีเนื้อหาถึงการเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบอิสลามศึกษาที่สมดุลและสมบูรณ์พร้อมสำหรับผู้คนในประเทศต่างๆ ตกลงให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานและร่างหลักสูตรอิสลามศึกษาระดับนานาชาติ การร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายการวิจัย เพื่อจะได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอิสลามศึกษา ให้ครอบคลุมและเข้าถึงวิทยาการต่างๆ การร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ความร่วมมือในการวิจัย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อทำให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์การสอนภาษาอาหรับชั้นนำ และกำหนดให้มีการประชุมนานาชาติอย่างต่อเนื่องทุกๆ สองปีที่จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสัมพันธภาพของประเทศที่เข้าร่วมสัมมนา
สำหรับรูปแบบการสัมมนาในปี2556 ประกอบด้วย การนำเสนอบทความจากนักวิชาการต่างประเทศ และนักวิชาการไทย การวิพากษ์และเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษาในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกา และเอเซีย การประชุมโต๊ะกลมโดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอิสลาม การประกาศข้อสรุปและการจัดทำข้อตกลงโดยคณะผู้เข้าร่วมประชุม และทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมและศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งผลจากการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต
รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่าในการสัมมนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนา และครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทย
ได้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย เพื่อที่จะได้นำความรู้ ไปถ่ายทอดให้เยาวชนได้รับทราบ ถึงความร่วมมือและแนวคิดของปราชญ์ด้านอิสลามศึกษาจากทั่วโลก .
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/service/IISC2013/IISC2013.html)
|