เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (14 มกราคม 2556) ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย โดยมีรัฐมนตรีจากประเทศกีนี อินโดนีเซีย กัมพูชา เอกอัครราชทูตจากลิเบีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อธิการบดี นักวิชาการจากการ์ตา ซาอุดิอารเบีย จอร์แดน ตุรกี อียิปต์ โซมาเลีย ตูนีเซีย ปากีสถาน และสหราชอาณาจักร ฯพณฯจุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา โดยมีรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต ผู้บริหารสถานศึกษาและ นักวิชาการมุสลิมจาก 40 ประเทศ รวมถึงนักวิชาจากประเทศไทย รวม 500 คน ร่วมในพิธีเปิด
รศ. ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวรายงานการจัดสัมมนา เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย ต่อนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวรายงานความว่าการจัดสัมมนานานาชาตินี้ เป็นความพยายามหนึ่งของวิทยาลัยอิสลามศึกษาที่มุ่งหาวิธีรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับความท้ายทายต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทของอิสลามศึกษา ตลอดจนเพื่อหาพันธ์มิตรทางวิชาการ และองค์ความรู้ที่จะกำหนดทิศทางการผลิตบัณฑิตที่สนองความต้องการของโลก
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดการสัมมนา กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานกับทุกท่านที่จังหวัดปัตตานี ในวันนี้ ซึ่งจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่สถานที่ ๆ มีความเป็นมาของการศึกษาศาสนาอิสลามอย่างยาวนาน การสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะเสริมศักยภาพเพื่อเสาะหาความท้าทายที่สำคัญต่ออิสลามศึกษาในยุคนี้ เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนและช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นผ่านอิสลามศึกษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กล่าวต่อไปว่า วัตถุประสงค์หนึ่งของรัฐบาลไทย คือการทำให้อิสลามศึกษาเป็นศาสตร์ที่บูรณาการและสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ ดังนั้นการสร้างให้นักศึกษาสาขาวิชานี้รอบรู้และมีทักษะ ไม่เพียงแต่ในสาขาอิสลามศึกษาเท่านั้นแต่ในสาขาอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้นักศึกษามีความรอบรู้และมีความเชี่ยวชาญเพื่อนำไปใช้ในการทำงานที่ดีในอนาคตได้ อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็นเลิศในศาสตร์ต่าง ๆ ด้านอิสลามและมีทักษะในศาสตร์อื่น ๆ ในขณะเดียวกันเพื่อให้เป็นมุสลิมที่เก่งและมีคุณภาพ ดังนั้นวิทยาลัยอิสลามศึกษาจึงเสนอหลักสูตรสองปริญญา ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และวิทยาการจัดการและ สิ่งที่เราต้องการในอนาคตคือการบูรณาการหลักสูตรอิสลามศึกษากับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร อาหารฮาลาล อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การพยาบาล และอื่น ๆ ในขณะเดียวกันวิทยาลัยอิสลามศึกษายังฝึกนักศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคตเพื่อเป็นสมาชิกประชาคม อาเซียน ที่มีคุณสมบัติพร้อม เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่ต้องฝึกให้นักศึกษามีความชำนาญในภาษาหลักและภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาอังกฤษ อาหรับ ไทย และมาเลย์ ในสามปีที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษาส่งนักศึกษาไปประเทศอาเซียน อาหรับและสหรัฐอเมริกาเพื่อให้มีความสามารถทางภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลต้องการให้วิทยาเขตปัตตานีเป็นศูนย์กลางที่เป็นเลิศทางภาษาอาหรับ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ภาษาอาหรับโดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยต่างประเทศและสามารถโอนหน่วยกิตได้ .
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์
http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/service/IISC2013/IISC2013.html)
|