: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ / ฉบับที่ 01 ประจำเดือน /2 556
หัวข้อข่าว : ม.อ. จัดแถลงข่าวการสัมมนานานาชาติด้านอิสลามศึกษา เปิดเวทีปราชญ์มุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษา 40 ประเทศ ระดมแนวคิดเรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย
รายละเอียด :

               เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดถลงข่าวสื่อมวลชน เรื่อง การสัมมนานานาชาติด้านอิสลามศึกษา เปิดเวทีปราชญ์มุสลิมและนักวิชาการอิสลามศึกษา 40 ประเทศ ร่วมระดมแนวคิด อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย โดยมีนายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคาดหวังของรัฐบาลต่อการสัมมนา รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสุกล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ของการจัดสัมมนา ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แถลงผลจากการสัมมนาครั้งที่ 1 รูปแบบการสัมมนา และผลที่ได้รับจากการสัมมนาในปี 2556 การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง ที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้โดยมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสื่อมวลชนอีกร่วม 60 ท่าน ร่วมรับฟังการแถลงข่าว
                นายทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคาดหวังของรัฐบาลจากการสัมมนาว่า การเปิดเวทีระดมแนวคิดจากปราชญ์ ด้านอิสลามศึกษา และนักวิชาการจากต่างประเทศ และในประเทศ ครั้งนี้ นับเป็นการระดมความคิดเห็นครั้งสำคัญ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการศึกษา ด้านอิสลามศึกษา ในประเทศไทย และนานาชาติ ให้มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานเดียวกัน และการบูรณาการอิสลามศึกษากับศาสตร์ต่างๆ ในรูปแบบของวิทยาการอิสลามที่ครอบคลุม อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่ ด้านการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศไทย การสัมมนาครั้งนี้ เน้นบทบาทของอิสลามศึกษาในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลง เปิดโอกาสให้นักวิชาการร่วมหารือเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญ และเนื่องจากจังหวัดปัตตานี ในอดีตเป็นศูนย์กลางการศึกษา ศาสนาอิสลามศึกษาที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ยุคโบราณ หรือที่รู้จักในนาม “ระเบียงแห่งเมกกะ” จากความสำคัญดังกล่าว นักวิชาการนานาชาติ จึงเห็นพ้องกันว่าสมควรที่จะระดมนักปราชญ์ ด้านอิสลามมาร่วมกำหนดทิศทาง ด้านอิสลามศึกษาที่จังหวัดปัตตานี “การสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษานานาชาติ ที่จะให้มีความเท่าเทียมกับนานาชาติ นั้น จำเป็นที่สถาบันการศึกษาจะต้องแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการจากสถาบันอื่นๆ ที่จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาไทย นิยมไปศึกษาเป็นจำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ มหาวิทยาลัยนานาชาติอัฟริกา ประเทศซูดาน และมหาวิทยาลัยอัลบัยต์ ประเทศจอร์แดน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าหากสามารถสร้างพันธมิตรทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วยการร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ แล้ว จะเป็นประโยชน์กับสถาบันการศึกษา และประเทศไทย ในการพัฒนาวิชาการด้านอิสลามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผลการสัมมนา นอกจากเป็นการสร้าง มิตรภาพ และความเข้าใจอันดี ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมสัมมนา และเป็นการยกมาตรฐานด้านอิสลามศึกษา ของประเทศต่างๆแล้ว ยังส่งผลให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ และสังคมโลก และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ให้สามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมเกียรติ” นายทศพร เสรีรักษ์ เปิดเผยเพิ่มเติม
               รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทายว่า การสัมมนาเรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย เป็นมิติใหม่ทางด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทย ที่จะได้รับรู้แนวคิดและประสบการณ์จากปราชญ์ด้านอิสลามศึกษานานาชาติจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการอิสลามทั่วโลก ร่วม 700 คน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษา ให้เท่าเทียมกับนานาชาติ นั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือทางวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก ที่จัดการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษา โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาไทยนิยมไปศึกษา
การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีกำหนดการโดยสังเขปดังนี้ วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2556 อ่านดุอาเปิดการสัมมนาโดย ฯพณฯจุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล การปาฐกถาพิเศษ โดย H.E.Dr.Abdulaziz Othman Altwaijri ผู้อำนวยการ Islamic Educational, Scientific and Cultural Organization (ISESCO) , H.E.Prof.Dr.Koutoub Moustapha Sano รัฐมนตรีความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ สาธารณรัฐกีนี , H.E.Prof.Dr.Umar Ubaid Hasnah ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและอิสลามศึกษา, รัฐมนตรีว่ากระทรวงศาสนสมบัติและกิจการศาสนา ประเทศกาตาร์ , Prof.Dr.Usamah Mohammad al Abed อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอิยิปต์ และปาฐกถา โดย Prof.Dato’ Dr.Muhammad Kamal Hassan จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ประเทศมาเลเซีย และในภาคบ่ายจะเป็นการเปิดการสัมมนาโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และในวันที่ 15 มกราคม 2556 เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการกว่า 20 หัวข้อ และกล่าวปิดการสัมมนาโดย รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา สำหรับในวันที่ 16 และ 17 มกราคม 2556 คณะผู้เข้าร่วมสัมมนาจะเดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเดินทางกลับ ซึ่งจะทำให้นักวิชาการนานาชาติด้านอิสลามศึกษา ได้ทราบว่าผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย อย่างมีความสุขและเสมอภาค ไม่ต่างจากผู้นับถือศาสนาอื่นๆ
               รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติเมื่อปี 2553 ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่อียิปต์ การ์ต้า จอร์แดน ซูดาน ชาด แทนซาเนีย ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดิอารเบีย โมร็อคโค ตูนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการในประเทศไทย รวม 413 คน ได้ประกาศปฏิญญาปัตตานี ในการร่วมมือและสนับสนุนการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศไทย และกำหนดให้มีการจัดสัมมนาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุก ๆ 2 ปี สำหรับการสัมมนานานาชาติในปี 2556 มีการนำเสนอบทความจากนักวิชาการต่างประเทศ และนักวิชาการไทย การวิพากษ์และเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษาในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกา และเอเซีย การประชุมโต๊ะกลม โดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอิสลาม การประกาศข้อสรุป และจัดทำข้อตกลงโดยคณะผู้เข้าร่วมประชุม และเยี่ยมชมและศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุข และสมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้ ในอนาคต      
                ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบัน การศึกษาทางด้านอิสลามศึกษา ระดับอุดมศึกษาแห่งแรก ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2533 ปัจจุบัน ได้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตในสาขาต่างๆ ทางด้านอิสลามศึกษา เช่น สาขาวิชากฎหมายอิสลาม อิสลามศึกษา ครุศาสตร์อิสลาม เศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลามและสาขาวิชาตะวันออกกลางศึกษา โดยมีการจัดการเรียนการสอน ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยมีความมุ่งมั่นจะพัฒนาเข้าสู่ความเป็นวิทยาลัยอิสลามศึกษานานาชาติต่อไป การพัฒนาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการเปิดการเรียนการสอนอิสลามศึกษานานาชาติ ขึ้นโดยรับนักศึกษาไทยและต่างชาต ิเข้าศึกษาใช้ภาษาอาหรับ และภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ในการเรียนการสอน ปัจจุบันมีนักศึกษาในโปรแกรมอิสลามศึกษานานาชาติจำนวน 125 คน มีนักศึกษาไทยจำนวน 101 คน และมีนักศึกษาต่างชาติอีก 24 คน จากประเทศจีน กัมพูชาและจากกลุ่มประเทศแอฟริกา
       ดร.ยูโซะ ตาเละ กล่าวต่อไปว่า การสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษานานาชาติ (ISIP) ให้มีความเท่าเทียม ในระดับเดียวกับนานาชาติ นั้น จำเป็นจะต้องแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ละในขณะเดียวกันหลักสูตรอิสลามศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิมและสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ที่ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต ประกอบกับการสัมมนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนา และครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในประเทศไทยได้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย เพื่อที่จะได้นำความรู้ ไปถ่ายทอดให้เยาวชน ได้รับทราบถึงความร่วมมือและแนวคิด ของปราชญ์ด้านอิสลามศึกษาจากทั่วโลก
               มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขอขอบคุณนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติร่วมแถลงข่าว คุณเตือนใจ สินธุวณิก ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความอนุเคราะห์ประสานงาน ขอบคุณสื่อมวลชนทุกสาขา ร่วม 60 ท่าน ที่ได้กรุณาให้เกียรติ รับฟังการแถลงข่าว ในวันเวลาดังกล่าวเป็นอย่างสูง และหวังว่าคงจะได้รับความอนุเคราะห์จากทุกท่านอีก ในโอกาสต่อไป.


โดย : * [ วันที่ ]