มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินสายจัดงานมหกรรมแนะแนวการศึกษานอกสถานที่แก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคใต้ เป็นปีที่ 13 ในจังหวัดตรัง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร เมื่อวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2555 เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความเชื่อมั่นให้กับสังคมต่างวัฒนธรรม ตลอดจนเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและหลักสูตรที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขตโดยมีคณะ หน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรม รวม 30 คณะหน่วยงาน
ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดโครงการประชาสัมพันธ์และแนะแนวนอกสถานที่แก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร เป็นปีที่ 13 เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน และนักเรียนนับเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจต่อมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามนโยบายในการจัดการศึกษาเข้าถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใฝ่รู้ได้มีโอกาสเรียนรู้สาขาวิชาและสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูงในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนต่างมุ่งเปิดตัวในจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้เยาวชนภาคใต้มีทางเลือกในการเลือกเข้าศึกษาต่อ โดยใช้วิธีการต่างๆ ในเชิงรุก เช่น การเปิดโครงการพิเศษ การให้โควตานักเรียนเรียนดี และอื่นในการสร้างแรงจูงใจการเลือกเข้าศึกษาต่อ สำหรับจังหวัดและโรงเรียนที่จัดกิจกรรมได้เลือกจัดในจังหวัดที่มีอัตราการสละสิทธิ์เลือกเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้ง 5 วิทยาเขตค่อนข้างสูง
สำหรับกิจกรรมแนะแนวการศึกษานอกสถานที่แก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคใต้ปีนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดตรัง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร เพื่อให้ข้อมูลด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตลอดจนแนะนำทุนการศึกษาฟรีตลอดหลักสูตร กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายเกี่ยวกับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสิทธิประโยชน์เมื่อได้เข้าศึกษา นิทรรศการและกิจกรรมสันทนาการ แจกเอกสาร ของที่ระลึกและตอบข้อซักถาม ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ณ โรงเรียนศรียาภัย จังหวัดชุมพร วันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ณ โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดภูเก็ต วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ณ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ณ โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา จังหวัดนครศรีธรรมราช
อาจารย์แนะแนวโรงเรียนห้วยยอด จังหวัดตรัง ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจในคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง อาทิ การมีสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นมาก โอกาสทางการศึกษาของนักเรียนย่อมมีมากขึ้นด้วย การให้ทุนการศึกษาของสถาบันการศึกษา ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะอาจารย์แนะแนว มีหน้าที่ที่ต้องแนะนำให้ทางเลือกการเข้าศึกษาต่อ ให้ยึดหลักความรู้ ความสามารถของนักเรียนเอง ปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง และตลาดแรงงานที่จะรองรับต่อไป ส่วนการตัดสินใจอยู่ที่นักเรียนและผู้ปกครอง สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้ผู้ปกครองบางส่วนวิตกกังวล ส่วนนักเรียนนั้นไม่มีความวิตกในเรื่องดังกล่าว อยู่ที่ความสนใจในสาขา หลักสูตรของคณะต่างๆ ที่มีการประชาสัมพันธ์แนะแนวนอกสถานที่ดังกล่าว ย่อมเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับอาจารย์ นักเรียนมากขึ้น จากการสื่อสารระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง
นางสาวบูชิตา นาควานิช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตนมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์ ที่ ม.อ.ปัตตานี เนื่องจากตนมีความตั้งใจเป็นครู และต้องเป็นครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะมีความรู้สึกเห็นใจน้องๆในพื้นที่ที่มีนักเรียนส่วนหนึ่งต้องขาดครูสอน เพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่จะกังวลเรื่องคะแนนมากกว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นั้นไม่มีอุปสรรค ถ้าเรารักที่จะเรียน เรื่องอื่นไม่มีความสำคัญ เพียงแต่เราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความระมัดระวัง เมื่อรุ่นพี่ๆอยู่ได้ เราต้องอยู่ได้เช่นกัน
นางสาวปริญาภรณ์ เพชรอินทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนห้วยยอด จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตนมีความมั่นใจในคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งตนเองสนใจเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์ โดยเฉพาะได้ทราบเรื่องถึงทุนเรียนฟรีตลอดปีการศึกษาทำให้มีแรงจูงใจอยากเข้าศึกษาต่อ เพราะจะได้ลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองอีกทางหนึ่งค่ะ
นายกฤษฎา แซ่แต้ เครือข่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังมากว่าวิทยาเขตปัตตานี จะได้นักเรียนต่างพื้นที่เข้าศึกษาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่สิ่งที่ได้รับคือ ความไว้วางใจและสัมพันธภาพที่ดีจากนักเรียนและผู้ปกครองในพื้นที่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความเชื่อมั่น มีทัศนคติในเชิงบวกต่อวิทยาเขตปัตตานี และจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นบ้างถึงแม้ว่าวิทยาเขตปัตตานีต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องปรับตัวกับเหตุการณ์
นายธฤต วิศาลกิจ 5 นักศึกษาชันปีที่ 4 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงความรู้สึกต่อการเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวนักเรียนนอกสถานที่กับวิทยาเขตปัตตานี นับเป็นโครงการที่ดีที่ควรมีต่อเนื่อง แม้ว่าผลที่ได้รับจะมองไม่เห็นก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นการได้สื่อสารระหว่างรุ่นพี่และนักเรียนที่ร่วมกิจกรรม อาทิ ชีวิตความเป็นอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่วิทยาเขตปัตตานีเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากนี้นักศึกษาสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยไม่แบ่งแยกคณะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและเป็นโครงการสร่างความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาวิทยาเขตปัตตานีได้เป็นอย่างดี
นางซูรียะห์ โลหะสัณห์ หัวหน้าโครงการแนะแนวสัญจร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (สร้างสายใย) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้ให้การสนับสนุนการจัดโครงการแนะแนวสัญจร วิทยาเขตปัตตานี เป็นปีที่ 3 โดยมีกิจกรรมย่อยๆ เพื่อการขับเคลื่อนโครงการ อาทิ โครงการนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตร ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โครงการประชาสัมพันธ์และแนะแนวนอกสถานที่แก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคใต้ โครงการ U-expo 2012 ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีเป้าหมายหลักเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้แก่นักเรียน อาจารย์แนะแนว และผู้ปกครอง ครอบคลุมทั่วภูมิภาคโดยใช้นักศึกษารุ่นพี่ กิจกรรมเป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ชีวิตความเป็นอยู่ และสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จากการประเมินความพึงพอใจเมื่อปี 2554 สิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือการจัดกิจกรรมแนะแนวของมหาวิทยาลัย และมีรุ่นพี่หรือญาติพี่น้องเรียนอยู่แล้วเป็นลำดับ
จากการประเมินโดยการสังเกตและการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการแนะแนวในจังหวัดภาคใต้ ทำให้เห็นว่านักเรียนในจังหวัดชุมพร และตรังมีความสนใจเลือกเข้าศึกษาคณะในวิทยาเขตปัตตานีมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับคำตอบว่าพวกเขามีความมั่นใจในคุณภาพทางวิชาการมากกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะที่นักเรียนให้ความสนใจมากที่สุดคือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร ตามลำดับ
นางซูรียะห์ โลหะสัณห์ กล่าวว่า นอกเหนือจากกิจกรรมแนะแนวหลักสูตรทางวิชาการของมหาวิทยาแล้ว กิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษา บุคลากรและชุมชนในภาคใต้ตอนบน จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีงามและทัศนคติในทางบวก มิตรภาพระหว่างนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยต่อนักเรียนผู้ปกครองและชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ นำมาซึ่งความสัมพันธ์ ความเชื่อมั่นให้กับสังคมต่างวัฒนธรรมปัจจุบัน จึงได้ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ในโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม หลักสูตร บรม บวร ในระยะแรก โดยมีกิจกรรมในลักษณะครอบรัวอุปถัมภ์ ปฏิบัติศาสนกิจแต่ละศาสนา บรรยายและอภิปรายร่วมกัน และแนะแนวหลักสูตร โดยได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำชุมชน นอกเหนือจากการที่นักศึกษาวิทยาเขตปัตตานี จะได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ผู้อื่นได้ พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ร่วมคิด ศึกษาการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้รับจากโครงการดังกล่าวคือ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างวิทยาเขตปัตตานีกับผู้ปกครอง และชุมชน อันส่งผลถึงความเชื่อมั่น ทัศนคติเชิงบวก ลดความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ชายแดนใต้โดยอาศัยสายใยระหว่างใจคน .
|