สภามหาวิทยาลัยรับทราบแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในอีก 4 ปีที่จะเน้นความมั่นคงด้านคุณภาพวิชาการ การเงิน การวิจัย เชื่อมโยงภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาเขต ชุมชนภายนอก และพร้อมสู่การเป็นผู้นำทางวิชาการระดับต้นของอาเซียน โดยขอให้นำความสำเร็จทางวิชาการสู่การพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน และเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างบัณฑิตที่มีภาวะผู้นำควบคู่คุณภาพวิชาการ
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2555-2558 ต่อสภามหาวิทยาลัย เมื่อ 14 กรกฎาคม 2555 โดยวาง 4 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อนำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเซีย ภายใต้พันธกิจ การพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสังคมฐานความรู้ บนพื้นฐานพหุวัฒนธรรมและหลักเศรษฐกิจพอเพียงโดยสามารถเข้าถึงความรู้ในหลากหลายรูปแบบ การสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการ ในสาขาที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของภาคใต้ และเชื่อมโยงสู่เครือข่ายสากล และประยุกต์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์การปฏิบัติ เพื่อสร้างปัญญา คุณธรรม และโลกทัศน์สากลแก่บัณฑิต
สำหรับ 4 ยุทธศาสตร์หลักดังกล่าวคือ ยุทธศาสตร์ฐานมหาวิทยาลัยที่มั่นคง ที่เป็นการจัดระบบการบริหารงบประมาณและการจัดหารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยให้มีเสถียรภาพทางการเงินในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เชิงรุกในการพัฒนามหาวิทยาลัย การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะสายวิชาการให้มีศักยภาพพร้อมต่อการพัฒนางานวิจัย บัณฑิตศึกษาและนานาชาติ และ ยกระดับคุณภาพงานและการพัฒนาในทุกมิติให้มีมาตรฐาน เหนือการกำกับด้วยระบบเกณฑ์คุณภาพและการประเมินองค์กรในรูปแบบต่างๆ
ยุทธศาสตร์ภารกิจที่เชื่อมโยงเป็นระบบที่ทรงประสิทธิภาพ ที่เน้นการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่เชื่อมโยงกับระบบบัณฑิตศึกษาที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนางานวิจัยและผลงานนวัตกรรมแข่งขันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การตอบโจทย์เชิงบูรณาการที่หลากหลายของประเทศ และยกระดับศักยภาพของชุมชน การมุ่งสร้างบัณฑิตที่มีสำนึกสาธารณะและภูมิใจในความเป็นไทย แต่คงไว้ซึ่งคุณภาพและสมรรถนะในการเข้าสู่ตลาดงานสากล จะมีการพัฒนาระบบการเผยแพร่วิชาการออกสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและด้วยกระบวนการที่หลากหลาย เพื่อยกระดับความเข้มแข็งของชุมชน และจะทำนุบำรุง เสริมสร้างคุณค่าแห่งวัฒนธรรม และปลูกฝังสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้แก่นักศึกษาและประชาชน
ยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยและระบบวิทยาเขต เป็นการบริหารมหาวิทยาลัย ในรูปแบบของ ระบบมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต หรือ PSU System เพื่อพัฒนาสู่องค์กรสมรรถนะสูง มีการบริหารจัดการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพและสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างระบบนิเวศน์แวดล้อมในมิติมหาวิทยาลัยสีขาว วิทยาเขตสีเขียว และระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนในบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา มีการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็น e-university เพื่อให้การดำเนินภารกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัด รวมทั้งสามารถรองรับระบบนิเวศน์ทางปัญญาและการเรียนรู้ การตัดสินใจทางการบริหารเชิงรุก และจะเน้นการสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อร่วมกันทำงานอย่างเกื้อกูลและพร้อมต่อการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
ยุทธศาสตร์ก้าวสู่ความเป็นสากล/นานาชาติ จะมีการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็น Education hub ภายใต้ภาวการณ์เปิดเสรีของอาเซียน และเตรียมความพร้อมของระบบสนับสนุนการศึกษาให้เป็นสากล ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ส่งเสริมให้นักวิชาการผลิตผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติอย่างมีคุณภาพ เพิ่มการเปิดหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา จะมีการพัฒนาหลักเกณฑ์และระบบการรับนักศึกษาชาวต่างประเทศและการจัดหาจัดจ้างบุคลากรชาวต่างประเทศ พร้อมกับปรับระบบสนับสนุนทางการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพให้รองรับต่อการเข้าศึกษาของนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งมุ่งสร้างพันธมิตรในการพัฒนาร่วมกัน ในระดับภูมิภาคเอเชียเพื่อการเป็นผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า แผนพัฒนามหาวิทยาลัย ดังกล่าวจะทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สามารถพัฒนาคุณภาพได้ในทุกด้าน และจะทำให้ท้องถิ่นประเทศชาติ ได้มีการพัฒนาขึ้นด้วย เพราะความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาใดๆ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษามากกว่ามาจากรัฐบาล และควรมีแผนที่จะนำวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยการเพิ่มศักยภาพให้องค์กรภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม มหาวิทยาลัยที่อยู่ในส่วนภูมิภาคจะต้องมีพันธกิจในการดูแลท้องถิ่นที่ตั้งของตนให้มีการพัฒนา ก่อนที่จะเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากล อย่างไรก็ตามยังต้องมีการพัฒนาทางวิชาการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก เพราะยังมีมหาวิทยาลัยในอาเซียนหลายแห่งนำหน้าอยู่
สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยควรกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีภาวะผู้นำ ที่นอกจากจะมีความสามารถทางด้านวิชาการและการจัดการแล้ว ต้องมีความรู้เรื่องวัฒนธรรมองค์กร การเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม ความมีโลกทัศน์ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ควรกระตุ้นให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสสร้างคุณค่าทั้งจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว มีการคิดใหม่ทำใหม่ และการใช้ความหลากหลายสร้างให้เกิดคุณค่าขึ้น
|