รายละเอียด :
|
กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจข้อมูลภาวะการหางานทำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รุ่นปีการศึกษา 2553 ซึ่งสำเร็จการศึกษาในเดือนมีนาคม 2554 พบว่า 1 ปีหลังสำเร็จการศึกษา จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 7,108 คน เป็นผู้มีงานทำแล้ว 5,392 คนหรือร้อยละ 83.0 และยังไม่ได้ทำงาน 1,108 คน หรือร้อยละ 17.0 ทั้งนี้ไม่นับรวมผู้ศึกษาต่อจำนวน 608 คน
สำหรับ ระดับปริญญาตรี มีบัณฑิตได้งานทำแล้ว 4,422 คนหรือร้อยละ 80.8 และยังไม่ได้ทำงาน 1,049 คน หรือร้อยละ 19.2 และมีผู้ศึกษาต่อจำนวน 558 คน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีบัณฑิตได้งานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และหากไม่นับรวมคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพที่บัณฑิตมีงานทำทุกคน ยกเว้นคณะการแพทย์แผนไทย ที่ได้งานทำร้อยละ 97.2 แล้ว มีคณะที่บัณฑิตได้งานทำเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 รวมทั้งสิ้น 5 คณะ ได้แก่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร้อยละ 39.2 คณะการแพทย์แผนไทย ร้อยละ 14.7 คณะทรัพยากรธรรมชาติ ร้อยละ 14.2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร้อยละ 14.0 และคณะเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 12.2 ส่วนคณะที่มีอัตราการได้งานทำลดลง มีจำนวน 8 คณะ
บัณฑิตระดับปริญญาตรีที่ได้งานทำ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ภาคใต้จำนวน 4,140 คนหรือร้อยละ 93.6 ของบัณฑิตที่ทำงานแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยมีบัณฑิตที่ทำงานในภาคใต้จำนวน 3,618 คน หรือร้อยละ 81.8 รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 10.6 และภาคอื่นๆ ร้อยละ 7.6 เมื่อคิดเฉพาะบัณฑิตที่ทำงานในภาคใต้ จะเป็นบัณฑิตที่ทำงานในจังหวัดสงขลา ร้อยละ 38.4 และทำงานในจังหวัดภูเก็ต ร้อยละ 16.6
บัณฑิตส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างเอกชน มากกว่าประเภทอื่นๆ โดยมีสัดส่วนของผู้ที่ทำงานในภาคเอกชน : ภาครัฐ : อื่นๆ คิดเป็น 6.4 : 2.5 : 1.1 หากไม่นับรวมคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ได้เงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าคณะอื่นๆ แล้ว บัณฑิตที่ทำงานแล้วได้รับเงินเดือนเฉลี่ย 12,993 บาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 298 บาท แต่คณะส่วนใหญ่บัณฑิตมีเงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6-0.2 ยกเว้น 10 คณะ ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยลดลง โดยบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ยังคงได้รับเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าคณะอื่นๆ แม้จะลดลงจากปีที่ผ่านมาก็ตาม
ในการประเมินตนเองของบัณฑิตพบว่า บัณฑิตประเมินว่าตนเองมีคุณสมบัติส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากเกือบทุกข้อ ยกเว้นภาษาอังกฤษ ที่บัณฑิตประเมินอยู่ในระดับปานกลาง และความรู้ภาษาที่ 3 ที่บัณฑิตประเมินอยู่ในระดับน้อย เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่ม และประเมินว่าองค์กรหรือผู้ว่าจ้างต้องการลำดับแรก ต้องการบัณฑิตที่มีความมีมนุษยสัมพันธ์ ความรู้ความสามารถสาขาวิชาชีพ และทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ใน ระดับปริญญาโท มีมหาบัณฑิตที่ทำงานแล้ว 758 คนหรือร้อยละ 93.1 ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 ทำงานในส่วนราชการ และร้อยละ 23.1 ทำงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างเอกชน และ ระดับปริญญาเอก มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 47 คน เป็นผู้มีงานทำแล้ว 46 คน หรือร้อยละ 97.8 โดยทำงานเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 43 คน ที่เหลือเป็นพนักงานบริษัท/องค์กรธุรกิจเอกชนและอื่นๆ
ผู้สนใจดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ http://www.planning.psu.ac.th/2009-10-27-08-24-07.html
|