: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 5 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 2/ 2554
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี ลงนามความร่วมมือ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา และกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราจำนวน 50 โรงงาน ในการพัฒนาโรงงาน ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์
รายละเอียด :
             คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา และโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราจำนวน 50 โรงงาน จัดพิธีลงนามความร่วมมือ โครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554  เพื่อการพัฒนาโรงงาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อันจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม
             เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม  ที่ผ่านมา  เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมสิงห์โกลเดนเพลส อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รองศาสตราจารย์.ดร. เจริญ  นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ได้กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา และกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราจำนวน 50 โรงงาน ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราไทย  
เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศไทย  โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยางแผ่นดิบ  กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำยางข้น กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง  และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป  แต่ผู้ประกอบไทยเองยังประสบปัญหาการพัฒนากระบวนการผลิตให้ถูกต้อง รวมถึงเทคโนโลยีการแปรรูป  ซึ่งส่งผลต่ออัตราการสูญเสีย ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น  ในขณะที่ภาครัฐมีนโยบายเพิ่มการใช้ยางในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา ด้วยการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและสิทธิพิเศษอื่น  ๆ  
         เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น  ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ จากความสำคัญดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  จึงได้จัดทำโครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่  ๕  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้แก่  จังหวัดปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  สงขลา  และสตูล  เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำปรับปรุงกระบวนต่าง ๆ ในการผลิต ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ในตลาดโลก  โดยรับสมัครผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้  เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต  และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางพารา  กิจกรรมการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มสมาชิก  การสัมมนาเพื่อการนำเสนอผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต  ตลอดจนการลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา และโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราจำนวน 50 โรงงาน
            ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือ โครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง นายทวี แก้วมณี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กับ สหกรณ์กองทุนสวนยางควนกาหลง 2 จำกัด โดย นายทอง ตรีรัตน์           ประธานกรรมการ ซึ่งเป็นกิจการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองศาสตราจารย์เจริญ นาคะสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษา ได้ตกลงว่าจะร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้ภายในเดือน มีนาคม 2555
             นายทวี แก้วมณี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของความร่วมมือโครงการฯ เพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้รับการพัฒนา สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ในตัวสินค้าโดยภาพรวมร้อยละ 10 อัน จะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าดีมีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม ตลอดจนเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและแข่งขันได้ในตลาดโลก ดังนั้นทั้งสามฝ่าย จึงมีหน้าที่กำกับดูแลที่ปรึกษาให้ดำเนินงานตามเงื่อนไข และสนับสนุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ
มีหน้าที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานตามคำแนะนำของที่ปรึกษา และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแนะนำโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยความรู้ความชำนาญ ความระมัดระวัง และความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน โดยไม่ละเมิดสิทธิ ข้อมูล หรือลิขสิทธิ์ของกิจการที่เข้าร่วมโครงการ หรือนำไปใช้ในกิจการอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากกิจการที่เข้าร่วมโครงการฯ.
โดย : * [ วันที่ ]