รายละเอียด :
|
นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ได้องค์ความรู้ใหม่ สร้างอาคารต้นแบบบ้านรังนกต้นทุนต่ำ จากการศึกษาวิจัยเรื่อง ชีววิทยาและ
การออกแบบการสร้างบ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำ เน้นถึงความประหยัด และการเลือกใช้วัสดุ
ที่เหมาะสมจากภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ผศ. โชคชัย เหลืองธุวปราณีต หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง ชีววิทยาและการออกแบบ
การสร้างบ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าการศึกษาวิจัยเรื่อง ชีววิทยาและการออกแบบการสร้างบ้านรังนกนางแอ่น
ต้นทุนต่ำ เพื่อศึกษาและค้นคว้าความรู้ด้านชีววิทยาและเทคโนโลยีการออกแบบการสร้างบ้านรังนก
ต้นแบบที่มีต้นทุนต่ำ โดยการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่เดิมและรวบรวม
ข้อมูลที่เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้
องค์ความรู้ใหม่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นที่ยอมรับและเผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการ โดยได้
สร้างอาคารต้นแบบโครงการบริเวณดาดฟ้าอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสร็จเมื่อ
เดือนเมษายน ๒๕๕๓ และปัจจุบันได้มีนกนางแอ่นเริ่มเข้าทำรังในอาคารต้นแบบของโครงการฯ
แล้ว เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ทั้งนี้จะเป็นรังนกที่ไม่สมบูรณ์แบบมากนัก แต่นับว่าเป็น
รังนกรังแรกของโครงการชีววิทยาและการออกแบบการสร้างบ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำ
ผศ. โชคชัย เหลืองธุวปราณีต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการบ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำได้รับ
ความร่วมมือจาก นายชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ประธานมูลนิธิชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ จังหวัดปัตตานี ผู้ได้รับ
การคัดเลือกจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น
ในรอบปี ๒๕๕๒ สาขาจิตบริการสาธารณะของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ให้คำแนะนำเชิง
วิชาการและเปิดโอกาสให้ทีมผู้วิจัยได้เยี่ยมชมบ้านรังนก เพื่อเป็นความรู้และแนวคิดในการ
ออกแบบและเขียนแบบ ซึ่งออกแบบโดย อาจารย์ณัฐพงษ์ บวรเรืองโรจน์ เป็นบ้านโครงเหล็ก
แบบก่ออิฐมวลเบา ขนาด ๕.๐ X ๑๓.๕ X ๕.๐ เมตร ราคาค่าก่อสร้าง ๔๐๐,๐๐๐ บาท
ภายในประกอบด้วย ห้องรังนก ร่องน้ำ และคานไม้กระดานสำหรับเป็นที่พักอาศัย หลังคาบ้าน
มีฝ้าเพดานและฉนวนกันความร้อน เพื่อลดความร้อนบริเวณดาดฟ้า ทั้งนี้ราคาบ้านอาจต่ำกว่านี้
ถ้าหากเลือกใช้วัสดุที่มีราคาถูก
คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำ โดยเน้นถึงความประหยัดและ
การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การเลือกใช้คุณภาพของวัสดุที่ดีในงบประมาณ
ที่ไม่แพงเกินไป เป็นต้น นอกจากนี้ระหว่างการเลี้ยงนั้นจะมีการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลด้าน
กายภาพ ชีววิทยา และพฤติกรรม อย่างเป็นระบบอีกด้วย
*****************************
|