รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงภายหลังการลงนามใน ปฏิญญาปัตตานี ระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษาจาก 16 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย กัมพูชา จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ แทนซาเนีย จอร์แดน โมรอคโค ซูดาน อิยิปต์ ปากีสถาน ตรุกี ตูนีเซีย ลิเบีย ซึ่งได้เดินทางมาร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2553 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยการประชุมครั้งนี้ มีคณาจารย์ นักวิชาการผู้นำระดับรัฐมนตรี และผู้นำศาสนา ประมาณ 300 คน เข้าร่วม ว่า
ปฏิญญาปัตตานี เกิดจากพื้นฐานของการพูดคุยของนักวิชาการอิสลามศึกษาทั่วโลก ที่มีความมุ่งมั่นจะนำพาอิสลามศึกษาไปสู่การสร้างสันติสุขของโลก โดยภายใต้หลักการสำคัญของ ปฏิญญาปัตตานี คือร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้าง ให้การศึกษาแก่เยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีความคิดความรู้เชิงสร้างสรรค์ และรู้จักอดทน มีความสามารถทั้งด้านความรู้และด้านคุณธรรม เพื่อเข้าสู่การแข่งขันหลังโลกแห่งโลกาภิวัตน์ ที่เต็มไปด้วยสังคมฐานความรู้
ผู้ร่วมลงนามต่างมีความเห็นพ้องว่า ควรมีการถ่ายทอดความรู้ด้านอิสลามศึกษาให้กับโลกและเยาวชน ตามหลักศาสนาที่ถูกต้องบริสุทธิ์ ซึ่งนั่นคือหลักที่ช่วยสร้างสันติภาพให้มวลมนุษย์ สังคมมุสลิมต้องมีการสื่อสารกับคนทั้งโลกเพื่อให้เข้าใจหลักศาสนาอันบริสุทธิ์ เพื่อให้เห็นความงดงามของศาสนาและเกิดความเข้าใจ การเคารพศรัทธาซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถอยู่อย่างลำพังได้
ในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น ผู้ร่วมลงนามได้ตกลงกันที่จะพัฒนาวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้มีความเข้มแข็งในด้านการเรียนการสอนภาษาอาหรับในประเทศไทย และจะมีการตั้งเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกัน โดยมีการประชุมร่วมกันทุก 2 ปี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อแลกเปลี่ยนและทบทวนความรู้จากการวิจัย เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
โดยนานาชาติผู้มีส่วนร่วมในการร่างปฏิญญาปัตตานี ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย ที่สนับสนุนส่งเสริมศาสนาอิสลาม และเปิดโอกาสให้มีการจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ขึ้น
ปฏิญญาปัตตานี มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการให้อิสลามศึกษา มีส่วนในการพัฒนาวิชาการ เยาวชน การร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษย์ โดยแบ่งได้เป็น 5 ข้อดังนี้
1. อิสลามศึกษาจะเน้นคุณค่าของความสงบสุข และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ระหว่างมวลมนุษยชาติ
2. อิสลามศึกษาจะบูรณาการกับความรู้ในสาขาต่างๆ ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายของการสร้างสังคมที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่
3. อิสลามศึกษาจะเน้นความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและความยุติธรรมในสังคม เพื่อสันติสุขของสังคมโลก
4. อิสลามศึกษาจะเน้นมิติของโลกอิสลาม เพื่อสร้างความร่วมมือและความเป็นมิตรให้เกิดทั่วโลก
5. อิสลามศึกษาจะเน้นความสำคัญของเสรีภาพและจะส่งเสริมการเจรจา เพื่อปกป้องสังคมจากความรุนแรงและการแตกแยก เพื่อเป็นการสร้างมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่มวลมนุษย์
โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนานานาชาติฯ
|