รายละเอียด :
|
วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยความร่วมมือของ Al-Azhar University, Egypt สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) สถานทูตไทยในอียิปต์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน) จัดการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง Role of Islamic Studies in Post-Globalized Society ในระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2553 ณ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีนักวิชาการจาก 16 ประเทศทั่วโลกและนักวิชาการในประเทศรวมกว่า 300 คน เข้าร่วมสัมมนา โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานีแจ้งว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่ม ของการสร้างความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกด้านอิสลามศึกษา เป็นเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ ระหว่างคณาจารย์ นักวิชาการด้านอิสลามศึกษา ตลอดจน ผู้นำทางศาสนาอิสลาม ทั่วโลก และ เป็นจุดเริ่มของความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยอิสลามศึกษา กับนักวิชาการด้านอิสลามศึกษานานาชาติ
รูปแบบการประชุม ประกอบด้วย การนำเสนอบทความโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Al-Azhar สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ และมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย ที่มีการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษา การวิพากษ์ และเสนอแนะ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษา ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกาและเอเซียการประชุมโต๊ะกลม โดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอิสลาม และ มีการประกาศข้อสรุปการสัมมนา ผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวนประมาณ 300 คน ประกอบด้วย อาจารย์ และผู้บริหาร จากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ศาสตราจารย์ทางด้านอิสลามศึกษา ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา และเอเซีย จากประเทศอิยิปต์ อาทิซูดาน จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย นักวิชาการในพื้นที่ และศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัย ในกลุ่มประเทศแอฟริกาและตะวันออกกลาง ตัวแทนองค์กรต่างๆ คณาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา และคณะวิชาอื่นในวิทยาเขตปัตตานี และ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าผลจากการประชุมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มของการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ระหว่างชาวไทยมุสลิมกับมุสลิมนานาชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพร่วมกัน และ ช่วยยกระดับวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของโลก (World Map of Islamic Study) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็น Education Hub of ASEAN .
โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนานานาชาติฯ
|