: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 2 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 2/ 2553
หัวข้อข่าว : 16 ประเทศ ร่วมปฏิญญาปัตตานีด้านอิสลามศึกษามุ่งมั่นให้ ม.อ.ปัตตานีเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษา
รายละเอียด :
         16  ประเทศ  ร่วมทำปฏิญญาปัตตานี ด้านอิสลามศึกษา  โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  เป็นศูนย์กลางด้านอิสลามศึกษา  และเตรียมจัดตั้งสถาบันภาษาอารบิค  และศูนย์วิจัยอิสลามศึกษา  เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ นักศึกษา บุคลากร พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานทิศทางการเรียนการสอนอิสลามศึกษา โดยบูรณาการศาสตร์อิสลามและศาสตร์ทั่วไปเข้าด้วยกัน
         รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เปิดเผยว่า เวทีสัมมนานานาชาติว่าด้วยเรื่องอิสลามศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2553 โดยมีประเทศที่เข้าร่วมรวม 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย  กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย จอร์แดน มาเลเซีย โมร๊อกโค  แทนซาเนีย  ปากีสถาน  ซาอุดิอารเบีย  ซูดาน  การ์ตา  ตูนีเซีย  ตุรกี  และประเทศไลบีเรีย ได้มีการลงนามปฏิญาณปัตตานีร่วมกันของ 16 ประเทศหลังการสัมมนาถึงความร่วมมือด้านอิสลามศึกษา ซึ่งประเทศไทยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์กลางด้านอิสลามศึกษา  ให้มีการจัดตั้งสถาบันภาษาอารบิค  และศูนย์วิจัยอิสลามศึกษา ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา  เพื่อผลักดันหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เป็นมาตรฐานสากล รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ และเป็นหนทางใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจ-สันติภาพของโดยบูรณาการศาสตร์อิสลามและศาสตร์ทั่วไปเข้าด้วยกัน
         สำหรับประกาศปฏิญญาปัตตานี 16 ประเทศ ในครั้งนี้ว่าด้วยสาระสำคัญ คือ ประการที่ 1. อิสลามศึกษาจะนำไปสู่สันติสุข และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เฉพาะระหว่างชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงมวลมนุษยชาติ  ประการที่ 2 อิสลามศึกษา จะมีการบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านศาสนาและศาสตร์ทั่วไปเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน และอนาคตของเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป  ประการที่ 3 อิสลามศึกษาจะส่งเสริมและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งรวมถึงความมั่นคงและความยุติธรรมทางสังคมด้วย ประการที่ 4 อิสลามศึกษาจะส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมุสลิม ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างพลเมืองของโลก ประการที่ 5 อิสลามศึกษาจะส่งเสริมในเรื่องโอกาสในการพูดคุยระหว่างสมาชิกประชาคมมุสลิม และเสริมสร้างคุณค่าของมนุษย์ให้ตระหนักถึงสันติภาพ และป้องกันแนวคิดหลักศาสนาที่บิดเบือน
ภายใต้หลักการดังกล่าว  ในฐานะผู้แทนมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา 16 ประเทศ ขอให้คำมั่นว่าจะตระหนักถึงเรื่องความสำคัญ ของคุณภาพ และความสมบูรณ์ของอิสลามศึกษา เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา หรือ Islamic Studies Coordinating Committee : ISCCO  ภายในปี พ.ศ.2555  มีการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรการวิจัย  หรือResearch Organization Network : RON  เพื่อประสานและอำนวยความสะดวกในคุณภาพของงานวิจัยทางวิชาการ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่ออิสลามศึกษาและสังคม   ส่งเสริมให้การบริการงานวิชาการมีความสอดคล้องต่อยุทธศาสตร์การพัฒนา  ส่งเสริมการร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการในทุกด้าน  พร้อมกับมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจ  มีการจัดหลักสูตรอิสลามศึกษาที่เกี่ยวข้องกับยุคโลกาภิวัตน์   นอกจากนี้ต้องให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์กลางด้านอิสลามศึกษาและทางด้านภาษาอารบิคในปะเทศไทย ประการสุดควรจัดการประชุมนานาชาติอิสลามศึกษาทุกๆ 2 ปี .
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์  
http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/service/islamicseminar/2010.html)
                                                       โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนานานาชาติฯ
โดย : * [ วันที่ ]