เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2553 เวลา 15.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนานาชาติด้านอิสลามศึกษา เรื่อง Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies ที่อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีนักวิชาการจาก 16 มหาวิทยาลัยในอาเซียน และนักวิชาการในประเทศกว่า 350 คน จากกลุ่มประเทศแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา เอเซีย อิยิปต์ ซูดาน จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และจีน เข้าร่วมสัมมนา
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษการสัมมนานาชาติด้านอิสลามศึกษา ว่า การจัดการประชุมวิชาการด้านอิสลามศึกษา เป็นการระดมแนวคิดจากผู้นำทางศาสนาอิสลามและนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาจากต่างประเทศจำนวนมาก นับเป็นการประชุมวิชาการครั้งสำคัญและเป็นหัวใจหลักของพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังต้องการพัฒนาสู่ความสงบสุข อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการผลิตบัณฑิตที่นับถือศาสนาอิสลามให้มีความรู้ทั้งทางด้านศาสนาและการศึกษาทางโลกเพื่อที่ในยุคหลังโลกาภิวัตน์ นักศึกษาอิสลามสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้
การเผชิญโลกหลังยุคโลกาภิวัฒน์ของอิสลามศึกษา ต้องมีเป้าหมายหลักๆ ได้แก่ การเน้นปฎิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งเรื่องของหลักสูตร ครู และวิธีการสอน โดยต้องเข้าใจว่า อิสลามไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างศาสนากับการศึกษาหลักสูตรทั่วไป เนื่องจากจะมีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ผู้ศึกษาจำเป็นต้องมีความเพียรพยายามอย่างสูง เพื่อปฏิบัติตามแนวทางของอิสลามได้อย่างถูกต้อง การรู้จักบูรณาการศาสตร์เพื่อสร้างเสริมศักยภาพ โดยนักศึกษาต้องศึกษาความรู้ด้านอื่นๆ ควบคู่ไปกับความสนใจและความสามารถส่วนตัวด้วย และ ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความพร้อมตอบสนองความต้องการของตลาด สหภาพแรงงาน ให้นักศึกษาจบออกไปประสบความสำเร็จในการหางานทำ ปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
การประชุมนานาชาติครั้งนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามมาโดยตลอด เพราะไม่ได้เป็นเพียงการเรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์แต่เป็นการเรียนรู้ความหลากหลาย เพื่อสร้างความสันติสุข และความสงบร่วมกัน และรัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องอิสลามศึกษา ทั้งเรื่องการเรียนการสอน ภาษา และการพัฒนาหลักสูตร เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาและภายหลังเปิดการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า การสัมมนาว่าด้วยอิสลามศึกษา ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในโลกมุสลิมเข้าร่วมในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญมากทั้งสำหรับเรื่องของการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นก้าวสำคัญในการที่จะเปิดโอกาสให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย นอกจากนั้น ก็เพื่อให้โลกมุสลิมได้เห็นศักยภาพของประเทศไทย ในเรื่องของการศึกษาและอิสลามศึกษาและเกิดความประทับใจที่ประเทศไทยให้โอกาส ที่มีการดำเนินงานที่ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติ โดยคาดว่า หลังการประชุมครั้งนี้ ก็จะมีการสานต่อกิจกรรมต่างๆ ขึ้นอีกในอนาคต
สำหรับความคิดเห็นต่อการสัมมนานาชาติด้านอิสลามศึกษา International Conference Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies ในครั้งนี้ มีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับด้านอิสลามศึกษาจากหลายประเทศ เห็นว่า นี่เป็นบรรยากาศของการให้สิทธิในการนับถือศาสนาของไทย และต้องนำสิ่งที่ได้พูดคุยกันในครั้งนี้ ให้เกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง Prof. Dr. Muhammad Hassan Awadh รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย Al-Azhar ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอิสลาม ได้ชื่นชมความสามารถของวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่สามารถเชิญปราชญ์ต่างๆ ในโลกมุสลิมมาร่วมสัมมนาทางวิชาการอิสลามศึกษาในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ในอดีตช่วงศตวรรษที่ 4-5 ของปีฮิจญ์เราะหฺศักราช อิสลามศึกษาเคยมีบทบาทอย่างมากในการสร้างและพัฒนาวิชาการต่าง ๆ เพื่อมนุษยชาติ เช่น ด้านเคมี ฟิสิกส์ แพทย์ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมมนุษย์ โดยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับคนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา และทุกวัฒนธรรม เพื่อการสร้างความปรองดองในสังคมและเพื่อสันติสุขในอนาคต และในนามของตัวแทนจากมหาวิทยาลัย Al-Azhar สามารถกล่าวได้ว่า หัวข้อสัมมนา และหัวข้อบทความที่นำเสนอในครั้งนี้ ล้วนเป็นการยืนยันการมุ่งมั่นในการสอนศาสนาอิสลาม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน หรือกล่าวอ้างเพื่อการทำกิจการบางอย่าง
H.E Umar Ubaid Hasanah ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอิสลามศึกษา ประเทศกาต้าร์ กล่าวว่า สังคมที่อยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งสันติ เช่นที่สัมผัสได้ในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการให้อิสระของรัฐบาลไทยในการนับถือศาสนา เป็นอารยธรรม ของการที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นโอกาสที่แม้ประเทศในโลกอาหรับบางประเทศก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเช่นนี้ได้ ท่านได้กล่าวถึงเรื่องของการมีความคิดแบบสุดโต่งว่า โดยความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทั่วไปไม่ปรารถนาความรุนแรง เนื่องจากไม่ได้สร้างสรรค์อะไร นอกจากจะกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญ และผลที่ได้รับกลับมาคือความรุนแรงเช่นกัน จึงดีใจที่ได้เห็นบรรยากาศของประเทศไทยที่ให้สิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้สนับสนุนการจัดในครั้งนี้คือรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของรัฐบาลนี้ ที่มีให้กับศาสนิกที่เป็นมุสลิม การที่จะสามารถลบล้างความคิดแบบสุดโต่ง และความรุนแรง ก็ด้วยการเพิ่มสิทธิและโอกาสแก่ประชาชนให้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการเปิดสอนด้านอิสลามศึกษาที่จะเป็นผู้ให้คำตอบและอธิบายให้มุสลิมทุกคนว่า เขาเหล่านั้นสามารถจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพลเมืองทั่วไป ท่านไม่อยากให้เห็นการสัมมนาครั้งนี้เป็นการพูดคุยนำเสนอเรื่องวิชาการที่สิ้นสุดลงในระยะเวลา 3 วัน โดยเปล่าประโยชน์ โดยเห็นว่าต้องแปลงสิ่งที่พูดคุยกันให้เกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อศึกษาวิเคราะห์ และติดตามงานที่เกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา เพื่อให้ได้คำตอบในสิ่งที่การสัมมนาครั้งนี้ต้องการ และเกิดประโยชน์แก่สังคมให้มากที่สุด .
(ชมภาพได้ที่เว็บไซต์ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/service/islamicseminar/2010.html)
โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนานานาชาติฯ
|