ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หนุนวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษา
ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้แถลงข่าวหลังการสัมมนาทางวิชาการอิสลามศึกษาในภาคเช้าโดยมุ่งมั่นให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์กลางด้านอิสลามศึกษา
ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การสัมมนาเรื่อง Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies ในครั้งแรกเป็นโครงการนำร่องที่จะระดมแนวคิดจากนักวิชาการโลกมุสลิมให้มีการจัดระบบการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษาให้สอดคล้อง และเป็นประโยชน์กับสังคมในยุคหลังโลกาภิวัตน์ ที่ผ่านมาพบว่าบัณฑิตที่จบอิสลามศึกษาไม่มีตลาดแรงงาน รองรับ
เนื่องจากเนื้อหาสาระของอิสลามศึกษาไม่ตรงกับความต้องการและ ใช้ประโยชน์ได้จำกัด ทั้งที่ในความเป็นจริง ศาสตร์ด้านอิสลามศึกษามีความครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องศาสนา สังคม วัฒนธรรมวิชาชีพทุกสาขา แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้วิชาชีพถูกแยกออกจากวิชาอิสลามศึกษา ทำให้มิติวิชาชีพทางอิสลามศึกษาลดลง เน้นเฉพาะการสอนศาสนา และวัฒนธรรม
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่นักวิชาการทั่วโลกและเป็นการประชุมนานาชาติอิสลามศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนานานาชาติ มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาของโลก ตั้งแต่ปี 2545 มหาวิทยาลัย ฯ ได้เตรียมความพร้อมสู่ความเป็นเลิศร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษา สนับสนุนและส่งเสริมการเพิ่มจำนวนและทักษะอาจารย์ เพิ่มครุภัณฑ์อุปกรณ์การเรียนการสอนโดยเฉพาะด้านภาษาและคอมพิวเตอร์ มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรการติดต่อต่างประเทศ ปัจจุบันวิทยาลัยอิสลามศึกษาเปิดสอนในระดับปริญญาตรีในสาขาอิสลามศึกษา ทั้งภาคภาษาไทย และภาคภาษาอาราบิค เปิดสอนสาขาครุอิสลาม สาขาเศรษฐศาสตร์อิสลาม สาขากฎหมายอิสลาม สาขาตะวันออกกลางศึกษาและได้เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในบางสาขาแล้ว
ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ วิทยาลัยอิสลามศึกษาจะมีสถาบันพัฒนาครูสอนวิชาอิสลามศึกษาเพื่อพัฒนาครูสอนศาสนาอิสลาม ให้มีคุณภาพสูงขึ้น จะมีศูนย์ภาษาอาราบิค และได้วางแนวทางพัฒนาศาสตร์ทางด้านอิสลามศึกษา สร้างนักศึกษาให้เป็นเยาวชนของโลกที่มีความสามารถสูง(Competitive global citizens)โดยนักศึกษาในพื้นที่จะมีความสามารถด้านภาษาอาราบิค ภาษามาลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ทำให้นักศึกษา มีความสามารถที่จะอยู่ในสังคมโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และสามารถไปประกอบอาชีพในสังคมตะวันออกลาง สังคมอาเซียน และสังคมอื่นๆทุกพื้นที่ได้
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังมีโครงการจะนำวิชาอิสลามศึกษาไปสู่การเรียนการสอนในหลักสูตรอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์เมื่อเรียนรู้อิสลามศึกษา ก็สามารถไปเป็นวิศวกรในอินโดนีเซีย หรือตะวันออกกลางได้โดยไม่มีปัญหาทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับพยาบาลศาสตร์ก็สามารถที่จะไปทำงานในที่แห่งใดก็ได้ถ้าเขารู้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาอารบิค และรู้วัฒนธรรมมุสลิม.
โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนานานาชาติฯ
|